วันนี้ (9 ก.ย.2563) #ชาบูนางใน ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยอันดับ 1 โดยมีผู้ทวีตข้อความถึงกว่า 23,000 ครั้ง วิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งได้เผยแพร่ข้อความระบุว่า "เสียความรู้สึก เพิ่งเคยเจอร้านบุฟเฟ่ต์ที่เจ้าของร้านขู่จะคิดเงินเพิ่ม เพราะอ้างว่าเรากินเยอะเกินไปจนร้านไม่ได้กำไรจากเรา ถ้ามีความคิดแบบนี้อย่าเปิดร้านบุฟเฟ่ต์ดีกว่าครั้บ"
ต่อมาเฟซบุ๊ก ชาบู ชาบูนางใน สาขาพระรามเก้า 43 ได้มาตอบกลับข้อความดังกล่าวว่า "ทานบุฟเฟ่ต์แปลว่า ทานหลากหลายไม่ใช่ทานแต่เนื้อ กุ้ง ไม่ทานอย่างอื่นเลยแบบนี้เรียกว่าทานเนื้อและกุ้งลวกไม่ใช่ชาบู" พร้อมระบุว่า พบพฤติกรรมนี้ไม่ใช่เป็นครั้งคราว โดยร้านเป็นการบุฟเฟ่ไม่จำกัดเวลา แต่ลูกค้าสั่งเนื้อขั้นต่ำ 6-12 จาน จานขนาด 12 นิ้ว และเตือนผู้โพสต์ว่าหากโพสต์ให้ร้านเสียหายต้องใช้กฎหมายมาตัดสิน
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก ชาบู ชาบูนางใน สาขาพระรามเก้า 43 ได้เผยแพร่ข้อความชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ขอชี้แจง จากเจ้าของร้านที่เป็นคนเดินเข้าไปขออนุญาตชี้แจงเรื่องขอปรับราคาสำหรับลูกค้าที่รับประทานแต่เฉพาะเนื้อ อย่างลูกค้าคนนี้มาบ่อย มาเป็นระยะเวลา 3 ปีกว่าแล้ว ช่วงไหนมาบ่อยก็เดือนละ 2 ครั้งเป็นอย่างต่ำ ซึ่งดีใจที่ลูกค้ามาอุดหนุนอยู่เป็นประจำ และเชื่อว่าลูกค้ามาอุดหนุนด้วยการบริการของร้าน วัตถุดิบ ความสะอาด และความอร่อย
ทั้งนี้ ด้วยความชอบของลูกค้าที่รับประทานเนื้อล้วน จึงได้ขออนุญาตแจ้งว่าถ้าลูกค้าต้องการรับประทานแบบเดิม ร้านยินดีให้บริการในครั้งหลังจากวันนี้ โดยมีนโยบายขึ้นราคาบุฟเฟ่ต์เนื้อแบบไม่อั้น รับประทานเนื้ออย่างเดียวหรือรวมกุ้งล้วนอย่างเดียวเป็นราคา 549 บาท เพิ่มจากราคาเดิม 200 บาท และไม่จำกัดเวลาเช่นเดิม
วันนั้นที่ลูกค้ามาทานเราเดินเข้ไปชี้แจง และชี้แจงว่าเราไม่สามารถขายในราคาเดิมได้เพราะอะไรให้ลูกค้าเข้าใจ ซึ่งเราก็ไม่ได้มีการข่มขู่ หรือเก็บเงินเพิ่มเลย เราก็ให้ลูกค้านั่งทานปกติ สั่งปกติต่อไป ซึ่งเราไม่ทราบว่าลูกค้าไม่เข้าใจหรือมีคำถามอื่นๆ ในใจอีกไหมแต่ลูกค้าไม่ถามแต่มีการรีวิวที่อยู่ข้างต้น
นอกจากนี้ ร้านชาบู ยังระบุว่า เข้าใจว่าเป็นสิทธิของลูกค้าที่จะรับประทานอะไรก็ได้ในราคาบุฟเฟ่ต์และให้บริการด้วยดีมาโดยตลอด แต่วันนั้นทางร้านแค่ขออนุญาตแจ้งการปรับเปลี่ยนราคาเท่านั้น แล้วลูกค้าก็จะพิจารณาว่าครั้งต่อไปจะมารับประทานหรือไม่ ส่วนกรณีที่แอดมินเขียนข้อความว่าถ้ายังโพสต์ให้ร้านเสียหายจะพึ่งพากฎหมายนั้น ด้วยแอดมินเกรงว่าลูกค้าจะโพสต์ในพื้นที่สาธารณะแล้วทำให้ร้านเสียหาย และทำให้บุคคลอื่นเข้าใจร้านผิดจนนำไปสู่การเสียชื่อเสีย ไม่ได้มีเจตนานำกฎหมายมาข่มขู่ลูกค้าแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในสื่อสังคมออนไลน์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความหมายของอาหารบุฟเฟ่ต์ จากคำชี้แจงของเพจร้านชาบูว่าลูกค้าต้องรับประทานอาหารที่หลากหลาย ซึ่งชาวโซเชียลบางส่วนมองว่า ควรจะหมายถึงลูกค้าสามารถรับประทานอาหารได้ทั้งหมดแล้วแต่ความต้องการ ขณะเดียวกันบางส่วนได้มองว่าธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟ่ต์อาจต้องมีการคิดถัวเฉลี่ยต้นทุนออกมาเป็นกำไรเพราะเมื่อมีคนรับประทานมาก ก็ย่อมมีคนรับประทานน้อยเช่นกัน นอกจากนี้ บางส่วนยังเสนอให้ร้านจัดทำราคาบุฟเฟ่ต์แบบแยกสัดส่วนที่ชัดเจน เช่น รับประทานหมูราคาหนึ่ง รับประทานเนื้ออีกราคา หรือรับประทานซีฟู๊ดก็เป็นอีกราคา แต่ต้องติดป้ายราคาให้ลูกค้าได้เห็นชัดเจนซึ่งก็มีร้านอาหารบุฟเฟ่ต์หลายร้านที่ดำเนินการเช่นนี้