ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นายกฯ สั่งสภาพัฒน์เดินหน้าทำแผนแม่บทฯ เฉพาะกิจ 2 ปี

การเมือง
16 ก.ย. 63
13:37
465
Logo Thai PBS
นายกฯ สั่งสภาพัฒน์เดินหน้าทำแผนแม่บทฯ เฉพาะกิจ 2 ปี
รัฐบาลสั่งสภาพัฒน์เดินหน้าจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติเฉพาะกิจ 2 ปี (2564-2565) รองรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 มุ่งเน้นคนมีงานทำ ดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างทั่วถึง พร้อมเตรียมวางรากฐานปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

วันนี้ (16 ก.ย.2563) นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในรูปแบบเฉพาะกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงระหว่างปี 2564-2565 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เสนอ

ทั้งนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 โดยแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อให้คนมีงานทำ สามารถยังชีพอยู่ได้ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

เปิด 3 มิติการพัฒนา

ในร่างแผนแม่บทฯ ประกอบด้วย 3 มิติของการพัฒนา ได้แก่ การพร้อมรับ การปรับตัว และการเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน ที่สอดคล้องกับ 4 ประเด็นหลักการพัฒนา ทั้งการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ

รับฟังความเห็นแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ก่อนเสนอ ครม.

ขณะนี้ทางสภาพัฒน์อยู่ระหว่างดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์และนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ขณะเดียวกันคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพิ่มอีก 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เป็นประธาน, ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีนางอรรชกา สีบุญเรือง เป็นประธาน, ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีนายกฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธาน, ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ เป็นประธาน, ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีนายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล เป็นประธาน และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีนายพงศ์โพยม วาศภูติ เป็นประธาน

ความคืบหน้าแผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้รับทราบความก้าวหน้าการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับแผนพิจารณาให้ความสำคัญกับกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่เร่งด่วน และมุ่งเน้นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม (หรือ Big Rock) เช่น ด้านการเมือง เสนอเรื่องปฏิรูปการเมืองที่ชอบธรรมและสุจริต, ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เสนอเรื่องปฏิรูปการเบิกจ่ายของภาครัฐ และควรให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในการวิเคราะห์และบริหารราชการแผ่นดิน, ด้านกระบวนการยุติธรรม เสนอเรื่องปฏิรูประบบการลดโทษของราชทัณฑ์, ด้านเศรษฐกิจ เสนอเรื่องปฏิรูปการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ และควรให้ความสำคัญกับกิจกรรม Wellness/Medical center Logistics และการเป็น Regional Office Center

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอเรื่องปฏิรูปด้านที่ดินทำกิน การจัดการมลพิษ ขยะ น้ำเสีย และปัญหาหมอกควัน การส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน, ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เสนอปฏิรูปเรื่องการส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์ที่ดีและมีคุณภาพ และควรให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ผู้บริโภคสื่อ, ด้านสังคม เสนอเรื่องปฏิรูปสังคมที่เข้มแข็ง ปลอดภัย และอบอุ่น การปฏิรูปที่ดินเพื่อการยังชีพและการพัฒนาเมือง รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนทั้งก่อนและหลังวัยเกษียณ

ด้านพลังงาน เสนอให้เพิ่มเติมเรื่องพลังงานหมุนเวียนและชีวภาพ, ด้านการศึกษา เสนอให้เน้นความสำคัญด้านการเรียนการสอน และด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เสนอให้เน้นความสำคัญของการนำค่านิยมที่ดีมาปรับหลักคิดและทัศนคติ โดยการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศดังกล่าวจะต้องเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณา รวมทั้งรายงานต่อรัฐสภาทราบก่อนประกาศใช้ในช่วงประมาณปลายปี พ.ศ.2563 ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง