ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รอความเห็น รมว.คลังคนใหม่ต่อสัมปทานบีทีเอสหรือไม่

เศรษฐกิจ
16 ก.ย. 63
15:19
1,826
Logo Thai PBS
รอความเห็น รมว.คลังคนใหม่ต่อสัมปทานบีทีเอสหรือไม่
ผู้บริหารบีทีเอสระบุ รอความเห็นเพิ่มเติมจาก รมว.คลังคนใหม่ ปมขยายอายุสัมปทานบีทีเอสอีก 30 ปีแลกหนี้กทม. 7 หมื่นล้านบาท พร้อมเตรียมเดินหน้าฟ้องคนร.-สคร. และศาลปกครองหลังรฟม.ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอการประมูล โดยให้นำคะแนนเทคนิคมาร่วมพิจารณาด้วย

วันนี้ (16 ก.ย.2563) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวถึงความคืบหน้าการขยายอายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อีก 30 ปี เนื่องจากบีทีเอสจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 แลกกับการรับภาระหนี้ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กว่า 70,000 ล้านบาท และจะต้องคิดเพดานค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้รับทราบโครงการนี้แล้วตามที่กระทรวงมหาดไทยนำเสนอ

 

แต่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายที่รอความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ให้ความเห็นก่อน ถ้าหากได้รับอนุมัติจากครม.และลงนามสัญญากันแล้วจะเร่งดำเนินการเดินรถภายในใต้สัญญาสัมปทานใหม่ อาจจะดำเนินการเริ่มเก็บค่าโดยสารใหม่สูงสุดไม่เกิน 65 บาทต่อเที่ยวได้เร็วกว่าในเดือนธันวาคมปีนี้

 

 

ส่วนความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้มีมติปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอการประมูล โดยให้นำคะแนนเทคนิคมาร่วมพิจารณาด้วย โดยให้น้ำหนักคะแนนด้านเทคนิคร้อยละ 70 และด้านราคาร้อยละ 30 ซึ่งบีทีเอสได้หนังสือชี้แจงจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หลังจากที่บริษัทได้ยื่นร้องเรียนไปแล้ว และเห็นว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ภายหลังจากการขายซองและปิดการขายซองไปแล้ว ซึ่งทำให้ทราบว่ามีรายใดจะเข้าร่วมการประมูล ไม่เป็นธรรมและจะร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เนื่องจากเป็นผู้ดูแลเรื่องนโยบาย รวมถึงบอร์ดรฟม. โดยต้องการให้ยึดตามประกาศเดิม ส่วนการร้องต่อศาลปกครอง ยังอยู่ระหว่างพิจารณา แต่ยืนยันว่า ทุกอย่างจะดำเนินการไปตามขั้นตอน


ขณะนี้คาดว่าจะยื่นซองประมูล แต่ต้องดูรายละเอียดก่อน คนซื้อซองหมดแล้วมันมีแค่ 10 คน เพราะฉะนั้นจะรู้ว่าใครมีความสามารถอะไร ข้อได้เปรียบเสียเปรียบอะไร ก็กังวลแหละครับถึงได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมให้เปลี่ยนกลับมาใช้หลักเกณฑ์เดิม เพราะใช้ทุกครั้งการประมูลโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นพีพีพี ตามปกติเปิดซองคุณสมบัติก่อน เมื่อผ่านเปิดซองเทคนิค ผ่านแล้วเปิดซองราคา เมื่อเปิดซองราคา ผู้ที่เสนอราคาที่ดีที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะ อันนี้ตัดสินง่ายตรงไปตรงมา แต่ถ้าหากใช้คะแนนด้านเทคนิคมาคิดก็อาจเป็นเรื่องดุลยพินิจได้

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 2564 โดยอาจจะไม่ได้เดินรถทั้งเส้นทาง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีชมพู ขณะนี้ยังติดปัญหาส่งมอบพื้นที่ได้ไม่ครบ งานก่อสร้างล่าช้าอยู่ที่ร้อยละ 60 ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีชมพู เข้าโครงการเมืองทองธานีอีก 2 สถานี ขณะนี้รอที่ประชุมครม. พิจารณาอนุมัติโครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ และจะใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปีครึ่ง คาดแล้วเสร็จในปี 2565

 

 

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะได้รับการอนุมัติให้ทำส่วนต่อขยายรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร ล่าสุดได้ทำหนังสือยืนยันกับรฟม.ว่า บีทีเอสจะลงทุนทั้งหมดค่าก่อสร้าง ค่าเวนคืนที่ดิน และหากมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตกลงก็จะแบ่งค่าโดยสารให้รฟม.

นายสุรพงษ์ ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือจากรฟม.ว่าจะต้องเจรจาหรือไม่ แต่บริษัทยืนยันไม่รับเงื่อนไขที่ยอมรับในสัญญาเปิดให้เจรจากับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้เดินรถไฟฟ้า MRT หากต้องมีการชดเชยรายได้ระหว่างกัน เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทมหาชนคงทำไม่ได้หากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ

ส่วนประเด็นที่หากเจรจาไม่ได้ข้อสรุป และอาจจะไม่ได้สร้างส่วนต่อขยายนั้น นายสุรพงษ์ ระบุว่า ได้ส่งหนังสือให้รฟม.แล้ว ยืนยันว่าจะทำตามโครงการเดิมซึ่งเป็นเส้นทางหลักเส้นทางเดียว แต่ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ซึ่ง รฟม.อาจจะต้องชั่งน้ำหนักว่าได้อะไรเสียอะไรและคุ้มค่าไหม แต่แน่ๆที่ได้คือประชาชน

 

ขณะที่ขบวนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองขบวนแรกจะมาถึงไทยในช่วงปลายเดือนนี้ และทยอยเข้ามาจนครบในกลางปีหน้า โดยสายสีชมพูจะมี 42 ขบวนๆละ 4 ตู้ และ สายสีเหลืองจะมี 30 ขบวนๆละ 4 ตู้ รวมทั้งหมด 288 ตู้

 

ส่วนความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีกรุงธนบุรี-เจริญนคร-คลองสาน 3 สถานี อาจจะไม่สามารถเปิดได้ตามกำหนดได้เดือนตุลาคมนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบอยู่ แต่เนื่องจากความล่าช้าจากที่ขบวนรถเข้ามาล่าช้ากว่าแผน บุคคลากรที่ติดตั้งทดสอบระบบ เพิ่งเข้ามาได้ 3 สัปดาห์ และเพิ่งเริ่มทำงาน โดยอาจจะต้องหารือกับบริษัทกรุงเทพธนาคมก่อน เพราะกังวลว่าอาจจะไม่พร้อมในการให้บริการ ซึ่งตามปกติการทดสอบระบบเช่นระบบอาณัติสัญญาณ ระบบราง และระบบอื่นๆ ต้องใช้เวลาทดสอบอย่างน้อย 1-2 เดือน
โดยยืนยันว่า จะพยายามให้เปิดบริการได้ทันภายในสิ้นปีนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง