สืบเนื่องจากการตรวจสอบของไทยพีบีเอส พบว่า บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ที่ยื่นขอสำรวจเหมือง จ.จันทบุรี คือ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส และบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทที่กำลังฟ้องรัฐบาลไทย กรณีมีคำสั่ง ม.44 สั่งยุติกิจการเหมืองทองอัครา จ.พิจิตร เมื่อปี 2559
บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง เป็นบริษัทที่มาจากการลงทุน 3 ทอด เริ่มจากการลงทุนร่วมของบริษัท คิงส์เกต แคปปิตอล (บริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด) และบริษัท อัครา โดยลงทุนผ่านบริษัท อิสระ ไมนิ่ง จานั้น บริษัท อิสระ ไมนิ่ง ลงทุนในบริษัท ริชภูมิ (ตรวจสอบรายละเอียดแผนผังท้ายรายงาน)
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาโครงสร้างของบริษัท คิงส์เกต แคปปิตอล และบริษัท อัครา มีรายละเอียดดังนี้
อ่านเพิ่ม แผนผังเครือข่ายผู้ถือหุ้น(ภาพใหญ่)
1. บริษัท คิงส์เกต แคปปิตอล เป็นบริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ทั้ง 2 บริษัทจดจัดตั้งที่ออสเตรเลีย โดยพบบริษัทดังกล่าวในรายงานประจำปีของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ตั้งแต่ปี 2541 (ปี 1998)
2. บริษัท อัครา รีซอส์สเซส เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท คิงส์เกต แคปปิตอล และนางณุชรีย์ ไศลสูต โดยนางณุชรีย์ มีสามีเป็นคนออสเตรเลีย ทั้งคู่ตั้งบริษัทในไทยชื่อ บริษัท โลตัส ฮออล์ ไมนิ่ง เป็นบริษัทรับเหมาช่วงต่อ (Subcontractor) รับงานต่อจากบริษัท คิงส์เกต โซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เช่น ดำเนินกิจการเหมืองในไทย คือ เหมืองชาตรี จ.พิจิตร และเหมือนในลาว เป็นต้น
ข้อมูลผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ส่วนในข้างต้น สะท้อนว่าทั้ง 2 ส่วนนี้มีรากฐานมาจากบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ทั้งสิ้น
บริษัทลูกตั้งอยู่ที่ "มอริเชียส"
ไทยพีบีเอส พบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท อัครา ปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่บริษัทเริ่มเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยวันที่ 19 ก.ย.2556 บริษัท คิงส์เกต แคปปิตอล ถือหุ้น 6.66% ส่วนบริษัท เอเชีย โกลด์ ถือหุ้นสามัญ 41.19% (มีสิทธิออกเสียงในการบริหาร) ส่วนนางณุชรีย์ ถือหุ้นบุริมสิทธิ 51.76%
เท่ากับว่าบริษัท เอเชียโกลด์ ซึ่งมีสัญชาติมอริเชียส กับนางณุชรีย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอัครา และกลุ่มผู้ถือหุ้นนี้ก็ยังคงรูปแบบมาจนถึงปัจจุบัน (30 ต.ค.2562)
เมื่อตรวจสอบบริษัท เอเชีย โกลด์ พบว่าเป็นบริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด อีกบริษัทหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ประเทศมอริเชียส โดยประเทศนี้มีอนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทย จึงเป็นประเทศที่มีผู้ลงทุนนิยมตั้งบริษัทลูกไว้ดำเนินธุรกิจในประเทศนั้น (Holding Company)
ต่อกรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ยกข้อความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA เพื่อโต้แย้งกรณีรัฐบาล คสช. ใช้มาตรา 44 สั่งยุติกิจการ และเรียกค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท จึงเป็นประเด็นที่น่าสงสัยว่า เมื่อบริษัทฯ เลือกใช้บริษัทลูกที่ตั้งอยู่ใน “ประเทศมอริเชียส” เข้ามาลงทุนร่วมกับบริษัท อัครา เพื่อดำเนินกิจการเหมืองในไทย จะสามารถใช้ข้ออ้างจาก TAFTA ที่เป็นความตกลงระหว่างไทย-ออสเตรเลียได้หรือไม่
สอบ 9 บริษัทลูกในไทย
ไทยพีบเอส ตรวจสอบข้อมูลจากรายงานประจำปีของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในออสเตรเลีย
พบว่ามีบริษัทลูกอย่างน้อย 32 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย 17 แห่ง, ไทย 9 แห่ง, มอริเชียส 1 แห่ง, ลาว 1 แห่ง, เปรู 1 แห่ง, ชิลี 2 แห่ง และอาร์เจนตินา 1 แห่ง
จากข้อมูลการจัดตั้งบริษัทลูก พบแบบแผนพฤติกรรมของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ที่ลงทุนในไทยแตกต่างจากประเทศอื่น โดยปกติจะเห็นว่ามีการตั้งบริษัทในประเทศปลายทาง เพื่อเข้าไปดำเนินกิจการเหมืองแร่ในประเทศนั้นๆ อาทิ ลาว เปรู ชิลี อาเจนตินา แต่กรณีของไทย ช่วงแรกเลือกใช้บริษัทลูกที่อยู่ในออสเตรเลียเข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัท อัครา จากนั้นได้เปลี่ยนเป็นบริษัทลูกที่ตั้งอยู่ในมอริเชียส คือ บริษัท เอเชีย โกลด์ เข้ามาร่วมลงทุนแทน
เมื่อวิเคราะห์แบบแผนการลงทุน ทั้งบริษัท อัครา ที่ทำเหมืองชาตรี จ.พิจิตร และบริษัท ริชภูมิ ที่ยื่นสำรวจเหมือง จ.จันทบุรี พบว่าในไทยมีบริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด อย่างน้อย 9 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีความสัมพันธ์กันในลักษณะการถือหุ้นไขว้
ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนใน 1.บริษัท ฟ้าร้อง 2.บริษัท ฟ้าแล็บ 3.บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ทั้ง 3 บริษัท มีผู้ลงทุนหลักคือ บริษัท อิสระ ไมนิ่ง
และเมื่อตรวจสอบที่มาของ บริษัท อิสระ ไมนิ่ง ก็พบว่าเป็นการลงทุนร่วมกันของบริษัท อัครา, บริษัท คิงส์เกต แคปปิตอล, บริษัท สวนสักพัฒนา ซึ่งทั้ง 3 บริษัทต่างมีรากมาจากบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าบางบริษัทมีการเปลี่ยนชื่อ แม้จะเป็นบริษัทที่มีที่มาเดียวกัน แต่ผู้เขียนเลือกที่จะแยกเป็นอีก 1 บริษัท เพราะมีลักษณะของการลงทุนในแต่ละช่วงเวลาต่างกัน และบางบริษัทมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นภายหลังการเปลี่ยนชื่อ
ข้อมูลทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่ามีการลงทุนโดยบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งใช้กลไกของบริษัทลูก และบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในลักษณะ “นอมินี” เข้ามาลงทุนในไทย
นอกจากนี้ยังพบว่า บริษัทลูกบางแห่ง เช่น บริษัท คิงส์เกต แคปปิตอล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัท อัครา มีที่ตั้งอยู่ที่เมอริเชียส แต่เมื่อบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด จะดำเนินคดีกับรัฐบาลไทย กลับยึดสถานะบริษัทแม่ที่เป็นบริษัทออสเตรเลีย และความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ในการต่อสู้ ขณะที่การลงทุนจริงเป็นการดำเนินการผ่านบริษัทลูก คือ บริษัท คิงส์เกต แคปปิตอล ที่อยู่ในเมอริเชียส ที่ได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน