ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ ท่ามกลางสถานการณ์ความเห็นต่างสุดขั้วต่อการใช้ "ธรรมศาสตร์" เป็นสถานที่จัดชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.นี้ และ ในฐานะเป็นประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ที่กำลังระดมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อเสนอรัฐสภา ซึ่งขับเคลื่อนสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" และกลุ่มนักศึกษาหลากสถาบัน ที่เคลื่อนไหวชุมนุมกันอยู่นอกรัฐสภามาต่อเนื่อง โดยหนึ่งในนั้น คือ ประเด็น "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ที่ดูจะมีแนวโน้มได้เสียงตอบรับมากที่สุดจากในรัฐสภาขณะนี้ แล้วการชุมนุม-หลากประเด็นที่ขับเคลื่อนนอกสภาฯ จะเชื่อมข้อต่อกับในสภาฯ ได้อย่างไร
มุมมองต่อการใช้พื้นที่ "ธรรมศาสตร์" จัดชุมนุม
สถาบันการศึกษา ควรเปิดโอกาสให้แสดงออกอย่างอิสระ บริสุทธิ์ สันติ ปราศจากอาวุธ ซึ่งถ้าดูลักษณะการจัดชุมนุม กลุ่มนักศึกษาไม่ได้มีรูปแบบก่อให้เกิดความรุนแรง และจะเห็นว่าหนังสือขออนุญาต ได้เกริ่นประเด็นที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงความขัดแย้ง แต่ก็มีบางกลุ่มที่ตั้งคำถาม วิพากย์วิจารณ์เรื่องความชอบธรรมทั้งเชิงที่มาของรัฐบาล ประสิทธิภาพการแก้ปัญหา
กลุ่มนี้เห็นว่าประเด็นเรื่องสถาบันฯ เอื้อให้คนบางกลุ่มใช้แอบอ้างเอื้อประโยชน์การเมือง หรือ เอื้ออำนาจเฉพาะตัว เฉพาะกลุ่ม ฉะนั้น จึงมีแนวคิดต้องการให้ปฏิรูปสถาบันฯ ด้วยความสง่างาม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
ด้วยเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยกำหนดว่า หากผู้จัดการชุมนุมเป็นกลุ่มอิสระ ก็ต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา ผมจึงลงนามในหนังสือที่นักศึกษาขออนุญาตจัดชุมนุม ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ขาดเพียงเงื่อนไขข้อเดียว คือ การตกลงร่วมกันของสามฝ่าย (นักศึกษา / มหาวิทยาลัย / ตำรวจ) เกี่ยวกับรูปแบบและความปลอดภัยในการชุมนุม เพราะทางกลุ่มแนวร่วมฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยให้จัดชุมนุม กระบวนการเจรจากัน 3 ฝ่ายจึงยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น
ทำไมเวทีธรรมศาสตร์ชูธง "ปฏิรูปสถาบันฯ"
ประเด็นนี้เริ่มตอนจัดชุมนุมเวทีของกลุ่มแนวร่วมประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อนายอานน นำภา เริ่มเปิดประเด็นเกี่ยวกับสถาบันฯ จะเห็นว่าเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเหตุผล ด้วยข้อเท็จจริง เพราะก่อนหน้านั้นการพูดถึงสถาบันฯ มักเกิดในลักษณะซุบซิบ นินทา เสียดสี ล้อเลียน ขึ้นกับแต่ละฝ่ายจัดความสัมพันธ์อย่างไร ซึ่งทางปฏิบัติหรือระยะยาวจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอะไร
มันอาจจะคล้ายๆ ว่า สาแก่ใจว่าเราได้ทำในสิ่งนั้นไปแล้ว ได้นินทา ได้ด่าไปแล้ว แต่สุดท้ายมันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร สิ่งที่ทนายอานนท์ พยายามจะทำก็ คือ ต้องหยิบยกเรื่องราวเหล่านี้ มาพูดในพื้นที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมาบนข้อเท็จจริง
หลังจากนั้น ประเด็นนี้ก็ถูกรับลูก และถูกพัฒนามาเป็น "ข้อเสนอ 10 ข้อ" ที่จัดกันในเวที ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 โดยกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ซึ่งนายอานนท์ ก็ไปร่วมขึ้นเวที และ รุ้ง ปนัสยา แกนนำกลุ่มแนวร่วมฯ เป็นคนอ่านแถลงการณ์ ปฏิรูป 10 ข้อ ซึ่งเพิ่มเติมมาจากแต่เดิมกลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" ที่มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
หลังจากวันที่ 10 ส.ค. ก็มีประเด็น 10 ข้อ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เข้ามาด้วย ทำให้มีความพยายามจะปรับเปลี่ยนหรือหลอมรวมเข้าหากัน และทำให้การชุมนุมใหญ่ของ "กลุ่มประชาชนปลดแอก" เมื่อ 16 ส.ค.2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงเกิดที่มาเป็น "3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน"
พอขยับมาเป็นรอบนี้ การชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.2563 ที่จะจัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประเด็นข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อนี้ จะถูกหยิบยกและพัฒนาให้มีรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งก่อนนี้อาจเป็นการแตะถึง 10 ข้อเรียกร้อง แต่หลังวันที่ 19 ก.ย.จะถูกแปลงออกมาเป็นแผนงาน เป็นยุทธศาสตร์ หรือเป็นอะไร ก็จะเห็นกันในวันที่ 19 ก.ย.นี้
ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุด ตอนนี้ก็ต้องถูกหยิบยกมาอภิปรายว่าแต่ละข้อมีลักษณะแบบไหน มีความเป็นไปได้สักเท่าไร แล้วจะคลี่คลายกันแบบไหน มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพูดคุยกัน ไม่เช่นนั้นมันจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องซุบซิบนินทา เป็นเรื่องเสียดสีประชดประชัน ขบขัน หรือเกลียดชัง ซึ่งมันไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอะไร
ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาชุมนุม หารือกับมหาวิทยาลัยอย่างไร
ทางมหาวิทยาลัยยังไม่ได้คุยกับเราก่อนที่จะมีประกาศเรื่องห้ามใช้สถานที่ ซึ่งปกติตามขั้นตอนต้องแทงหนังสือกลับมาก่อน แต่กลับออกมาเป็นข่าวให้สังคมรับทราบทันที ซี่งวันถัดมาทางกลุ่มแนวร่วมฯ ของนักศึกษา ก็แถลงตอบโต้กลับไปทันทีเหมือนกัน
สถานการณ์แบบนี้ ผมเห็นว่า มันนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาวิทยาลัยกับนักศึกษา เป็นสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ไม่อยากให้เกิดบรรยากาศแบบนี้ ไม่มีใครฟังใคร
ผมจึงโทรศัพท์ไปหาอธิบการบดีว่า สถานการณ์มันมาถึงจุดที่มหาวิทยาลัยกับนักศึกษาต่างไม่ลดราวาศอกกัน ผมคิดว่ามันไม่เอื้อต่อการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นภายในธรรมศาสตร์ด้วยกัน หรือกระแสทางสังคมตอนนี้ จะเป็นไปได้ไหมที่ทางมหาวิทยาลัย เห็นว่าประเด็นที่นักศึกษาจะจัดชุมนุมแล้วมีอะไรที่เขากังวลอยู่ก็ไปคุยกันก่อน ก่อนจะตัดบัวไม่เหลือใย แล้วสุดท้ายเป็นการเผชิญหน้า ซึ่งอธิการก็รับปากว่าจะไปคุยกับทีม แต่ยังไม่ทราบข้อสรุปว่าอย่างไร
แนะนำแกนนำเลี่ยงความเห็นต่างสู่ความรุนแรง
แน่นอนว่าเนื้อหาบนเวที ควรมีความหนักแน่น ไม่ควรเน้นลักษณะการปลุกเร้า หรือใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง อาจมีการล้อเล่นพอได้ แต่ต้องเลี่ยงการยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังกับอีกกลุ่ม ควรจะเน้นเกี่ยวกับรายละเอียด และข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่นำไปสู่การแก้ไขได้ เพราะนอกจากเป็นที่ปรึกษาของเด็กๆ ที่จัดชุมนุมแล้ว ผมยังเป็นประธานคณะกรรมการรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ด้วย
ได้คุยกับ "เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมฯ ว่าจะทำอย่างไรให้ข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อของพวกเขาไปต่อได้ เพราะในแง่หนึ่ง ขณะนี้มีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังนำไปสู่การตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือ ประเด็นปิดสวิซต์ ส.ว. ซึ่งดูเหมือนว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันเดินไปข้างหน้าแล้ว ก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" น่าจะได้ผลักดันเสนอข้อเรียกร้องของตัวเองเข้าไป
เบื้องต้น ผมได้ให้ข้อเสนอแนะกับกลุ่มแนวร่วมฯ ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ และแก้ใหม่ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา ซี่งเราเห็นพรรคก้าวไกลขยับแล้ว ฉะนั้นการแก้ทุกหมวดทุกมาตรา รวมถึงหมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันฯ ด้วย หรือบางมาตราที่เกี่ยวพันกัน ก็สามารถดำเนินการได้ภายใต้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองข้างนอกสภาฯ ที่มีความร้อนแรงอยู่ขณะนี้ จะได้มีช่องทางมีที่ทางไปต่อได้ และเข้าใจว่าข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ก็เชื่อว่าจะนำมาผนวกไปด้วย แนะนำไปเช่นนี้
ความกังวลกับเวทีชุมนุมที่มีคนนอกเข้าร่วม
เท่าที่เห็นตั้งแต่กลุ่มนักศึกษาหลายสถาบัน จัดรวมตัวชุมนุมทั้งรูปแบบแฟลชม็อบ หรือ แบบที่จัดชุมนุมใหญ่ จะเห็นว่าไม่พบวี่แววการใช้ความรุนแรงเลย ซึ่งเป็นข้อดีที่ว่าไม่มีมวลชนอีกกลุ่มที่มีสัดส่วนมากพอในการเคลื่อนไหวต่อต้าน แม้ที่ผ่านมา จะมีกลุ่มอาชีวะฯ มารวมตัวกันในวันที่กลุ่มประชาชนปลดแอกชุมนุมใหญ่ เมื่อ 16 ส.ค.2563 ซึ่งแรกๆ ที่เขามากัน ทางแกนนำทั้ง 2 ฝ่าย ต่างก็เตือนไม่ให้เกิดการยั่วยุซึ่งเป็นท่าทีที่ดี
ต่อมาช่วงบ่ายๆ เมื่อกลุ่มประชาชนปลดแอกเดินทางมาเพิ่มเรื่อยๆ ทางฝ่ายนั้นก็ยกเลิกการชุมนุมไปเอง ฉะนั้น ความรุนแรงที่จะเกิดจากรูปแบบ "ม็อบชนม็อบ" ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ การชุมนุมครั้งนี้ ก็อาจจะยังไว้วางใจไม่ได้ ต้องมีการคัดกรองที่รัดกุมพอสมควร รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐต้องมาช่วยทำระบบคัดกรองเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์ของเขาในการชุมนุมได้อย่างปลอดภัย
เฝ้าระวังการเผชิญหน้าเจ้าหน้าที่-นักศึกษา
ต้องประเมิน เพราะ ม.ธรรมศาสตร์ โดยศักยภาพทำได้แค่ปิดประตูรั้ว และคล้องกุญแจ สำคัญคือเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง จะเข้ามามีส่วนในสถานการณ์นี้ขนาดไหน ถ้าเขาตัดสินใจเด็ดขาดว่าเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ แล้วเอาตำรวจ ทหารมายันกันเอาไว้ ตรงนั้นน่าจะมีการกระทบกระทั่ง และก่อให้เกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย แต่ถ้ามหาวิทยาลัยทำแต่เพียงว่า ธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่ที่ตัวเองทำแล้ว ด้วยเหตุผลไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดชุมนุม แล้วคล้องกุญแจรั้วไว้ โดยไม่ได้ขอให้ตำรวจทหารมาช่วยกั้น ส่วนที่เหลือก็เกินกว่าที่ธรรมศาสตร์จะรับมือได้ ก็คงต้องปล่อยให้นักศึกษาเข้าไป ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ก็จะไม่เกิดเหตุรุนแรงอะไร
แต่ในแง่ของธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นมหาวิทยาลัย ที่เป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ของการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตย การให้สิทธิเสรีภาพของผู้คนมาตลอด มันคงจะมัวหมอง เพราะหนังสือที่ขออนุญาตจัดชุมนุม ไม่มีข้อใดที่ไปขัดกับแนวทาง 3 ข้อที่มหาวิทยาลัยได้ประกาศไว้ จึงไม่มีเหตุผลหรือความชอบธรรมอะไรที่มหาวิทยาลัยจะไม่อนุญาต และไม่ได้มีวิธีการที่จะให้ผู้จัดชุมนุมได้ปรับแก้ หรือเจรจาต่อรอง ผิดวิสัยของมหาวิทยาลัยที่เป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของสังคม สิ่งนี้เป็นปณิธานของธรรมศาสตร์ที่กำเนิดมาตั้งแต่ต้น
ธรรมศาสตร์ไม่ให้ใช้สถานที่ เพราะประเด็นปราศรัย?
ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นประเด็นนี้ที่ออกจะแหลมคม เอาเข้าจริงแล้วมันคงเป็นผลกระทบที่มาจากการจัดชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อ 10 ส.ค.2563 เพราะก่อนหน้านั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็คงไม่รู้ว่าวันนั้นจะมีประเด็นตบท้าย 10 ข้อนี้ และจะเห็นว่าหลังการจัดงานครั้งนั้น มีผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางส่วน ออกมาขอโทษสังคมว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อนกระทบกระเทือนจิตใจก็ว่ากันไป
แม้การจัดชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.ที่จะถึงนี้ ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ห้ามจัดประเด็นนี้ แต่เมื่อเนื้อหาในหนังสือขออนุญาตจัดการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมฯ ได้ระบุประเด็นปฎิรูปสถาบันฯ ร่วมด้วย ทำให้จุดยืนของผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดนี้ อาจจะอยากประคับประคองความรู้สึกของมวลชนฝ่ายขวา หรือ อนุรักษ์นิยมไปก่อนก็ได้
ถ้าคนล้น ม.ธรรมศาสตร์ จ่อเคลื่อนพลยึดสนามหลวง?
ถ้ามองย้อนกลับไปเหตุการณ์ "14 ตุลา 2516" มันก็เริ่มต้นจากใน ม.ธรรมศาสตร์ แล้วก็ขยับออกมาสนามหลวง โดยเงื่อนไขก็ต้องเป็นแบบนั้น เพราะสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ รองรับคนได้อย่างเก่งก็ 10,000 คน และถ้าดูประสบการณ์ของการชุมนุมใหญ่ 16 ส.ค.2563 มีคนจำนวนมากนับหมื่น และผมเชื่อว่า 19 ก.ย.นี้ คนจะมาชุมนุมมากกว่า 16 ส.ค. ซึ่งพื้นที่เปิดกว้างและโล่งที่สุดก็หนีไม่พ้นสนามหลวง ที่ตอนนี้ก็กลายเป็นพื้นที่กว้าง ไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างอะไร การเคลื่อนย้ายศูนย์กลางของเวทีจากภายใน ม.ธรรมศาสตร์ ไปเป็นที่สนามหลวงก็พอจะฟังขึ้น
แกนนำหลักถูกจับ สะเทือนเวทีชุมนุม?
ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก่อนวันที่ 19 ก.ย.นี้ จะไม่มีผลต่อการจัดชุมนุมใหญ่ และเชื่อว่าเวทีจะยังเดินหน้าต่อได้ การชุมนุมครั้งนี้คิดว่า รัฐบาลประเมินว่าน่าจะต่างกันแค่สเกลพื้นที่ เพราะจริงๆ ประเด็นเรื่อง 10 ข้อเรียกร้อง ก็เคยถูกพูดถึงมาแล้วจากเวทีธรรมศาสตร์คราวก่อน ครั้งนี้ก็เพียงแค่ทำให้ 10 ข้อเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ไม่ได้เกิดดิสรัปชัน (Disruption) อะไร เป็นแค่การชุมนุม แล้ววันรุ่งขึ้น ( 20 ก.ย.63) ก็เดินขบวนกันไปทำเนียบรัฐบาลแล้วก็จบ
เวที 19 ก.ย.ควรมีรูปแบบจริงจังกว่าวันที่ 10 ส.ค.?
ใช่ๆ มันควรเน้นสาระ เราอยากให้พูดถึงเรื่องนี้ตรงไปตรงมา โดยมีผลประโยชน์ของสังคมเป็นตัวตั้ง ประเด็นที่ควรถูกพูดถึงแบบมีสาระในวันที่ 19 ก.ย.นี้ จะเน้น 3 เรื่องหลัก ก็คือ
- ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549
- ความล้มเหลวการบริหารประเทศของรัฐบาล
- การปฎิรูปสถาบันฯ
ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ ต้องมีความชัดเจน ได้แนะนำให้เป็นกรอบกว้างๆ กับกลุ่มแกนนำแนวร่วมฯ เพราะว่าถ้าจัดการชุมนุมใหญ่แบบนี้ ก็ต้องทำให้สังคมมองเห็นและเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารอย่างมีสาระ
เบื้องหลังเวทีชุมนุม มีท่อน้ำเลี้ยง-กลุ่มการเมืองสนับสนุน?
เท่าที่เห็น ยังไม่มีกลุ่มการเมืองเข้ามา ซึ่งพรรคการเมืองเลือกที่จะเลือกเดินในแนวทางของรัฐสภา และพยายามระมัดระวังในการไม่ให้ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการ เพื่อลดทอนพลัง สร้างมลทินให้ตัวเอง เพราะเขาเชื่อว่าที่ขยับกันได้ทุกวันนี้ คือ พลังของนักศึกษา
ถามว่า มธ.มีเวทีขนาดใหญ่ที่เห็นกันขึ้นมาอย่างไร ตอบได้ว่า มาจากการระดมทุนรับบริจาค
ไม่ว่าจะวันที่ 10 ส.ค. หรือ วันที่ 19 ก.ย.นี้ ก็จะเห็นการประกาศระดมขอรับบริจาค แล้วก็มีคนบริจาคเข้ามาเพื่อการจัดชุมนุมเป็นครั้งคราว ไม่ใช่การชุมนุมที่เกิดความยืดเยื้อ จึงระดมกันได้
นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนที่ช่วยสนับสนุนแบบไม่คิดเงิน หรือ คิดในอัตราที่ถูกกว่าปกติ เช่น การจัดหาเครื่องดนตรี เครื่องเสียง หาเวทีที่ใช้ปราศรัย ไม่นับรวมไปถึงอาหารการกิน รถห้องน้ำ ที่อาจมีมวลชนบางส่วน ร่วมแรง ร่วมใจ หรือ เป็นนายทุนที่ดำเนินการ แต่ถามว่านักศึกษาเดินตามเกมส์นายทุนเหล่านี้หรือไม่ ตอบเลยว่า ไม่ เพราะแกนนำที่เคลื่อนไหวเขาก็มีจุดยืนของเขา ไม่ใช่ว่าต้องฟังคนที่บริจาคช่วยเข้ามา
เคลื่อนพลออกนอกรั้วธรรมศาสตร์ สู่เหตุการณ์ที่อาจรุนแรง?
เราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นภายในเงื่อนไขอะไร เพราะความรุนแรงจะไม่เกิดจากผู้ชุมนุมอยู่แล้ว แต่จนกระทั่งตอนนี้ ก็ยังไม่มีแนวโน้มความรุนแรง และไม่ใช่สถานการณ์ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงแบบเหตุการณ์ "14 ตุลา" ซึ่งประสบการณ์การชุมนุมของนักศึกษาที่จัดแฟลชม็อบตั้งแต่ต้นปี จนถึงตอนนี้ ยังไม่พบการใช้กำลังเข้าขัดขวางของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตรงไปตรงมา โดยวิธีการที่รัฐใช้เป็นยุทธวิธีการจับแกนนำหรือแนวร่วม แล้วปล่อย ตั้งข้อหาดำเนินคดี จับปล่อย จับปล่อย ไม่เผชิญหน้า หรือ ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า เพื่อเลี่ยงการเผชิญความรุนแรง แต่จะใช้วิธีการตั้งข้อหาดำเนินคดีก่อให้เกิดความเดือดร้อนยุ่งยากในการใช้ชีวิต เดี๋ยวก็ต้องขึ้นศาล เดี๋ยววุ่นวาย หลายคนอาจถอดใจไม่ยุ่งแล้ว
รัฐคงคิดว่าเดี๋ยวก็สลายกันไปเอง แต่รัฐคิดผิด ต่อให้จับไป 30 คน ก็ต้องมีคนมานำแทน และเวทีตอนนี้ไม่ได้มีหลักอยู่ที่เดียว แต่กระจัดกระจายไปหลากหลายเวที การจะใช้กำลังมาขัดขวางหรือสลายชุมนุมเป็นไปได้ยาก เพราะจาก 19-20 ก.ย.ถ้านับชั่วโมงแล้ว ก็ยังชุมนุมไม่ถึง 24 ชั่วโมงอยู่ดี
ส่วนการเคลื่อนพลจาก ม.ธรรมศาสตร์ ไปทำเนียบรัฐบาล เมื่อเทียบกับกรณี "คนอยากเลือกตั้ง" ตอนนั้นที่เจอแนวของตำรวจกั้นตั้งแต่หน้าธรรมศาสตร์ เงื่อนไขไม่เหมือนกัน เพราะการชุมนุมของแฟลชม็อบของนักศึกษา ตั้งแต่ต้นปี 2563 ยังไม่เห็นการขัดขวางของเจ้าหน้าที่ และยังเห็นว่าการจัดชุมนุมของนักศึกษากลุ่มต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะ ก็จะเห็นทางเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณแนวพื้นที่ชุมนุมด้วยแต่เจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการตั้งข้อหาแกนนำเป็นรายๆ ไปมากว่า
ผมเชื่อว่าการชุมนุมและประกาศแนวทางแบบนี้ เพียงแค่จะเดินไปทำเนียบรัฐบาล ประกาศจุดยืนแล้วก็จบการชุมนุม ก็เชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการตั้งข้อหาแกนนำมากกว่าการใช้ความรุนแรง เพราะอาจเป็นช่วงเวลาที่เป็นการช่วงชิงความชอบธรรมของแต่ละฝ่าย ถ้าใครพลาดก็อาจสูญเสีย เแง่หนึ่งยังมีสังคมที่มีผู้คนจำนวนมากยังไม่เแสดงตัวว่าจะไปทางไหนที่ยังเฝ้ามองสถานการณ์ชุมนุมครั้งนี้
ถ้าเกิดกลุ่มแนวร่วมฯ ขยับไม่ระมัดระวัง ไม่รัดกุมก็อาจเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวเกิดขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอีกฟากหนึ่งที่คุมกลไกรัฐทั้งหมดเอาไว้ ถ้ามีเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้เขาได้เคลื่อนไหว ผนึกกำลังประกาศตัว ซึ่งพวกเด็กๆ เองก็ต้องเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง และหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้แนวทางข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมฯ มันตอบโจทย์ของคนในสังคม และเป็นที่ยอมรับได้ของคนในสังคม โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 10 ข้อ
ความหวังกับการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้
ผมอยากเห็นการชุมนุมลักษณะของผู้คนที่มาร่วมมีความหวังดีที่จะให้ประเทศนี้มันหลุดพ้นไปจากวังวนของปัญหาเสียที เราอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองมาตั้งแต่ปลายปี 2548 จนตอนนี้ปลายปี 2563 เป็นเวลา 15 ปีแล้ว เรายังไปไม่ถึงไหน สองคือเป็นกลุ่มคนที่เข้าใจว่าปัญหาของประเทศอยู่ตรงไหน และควรมีทางออกร่วมกันอย่างไร
ความเข้าใจตรงนี้ควรสังเคราะห์มาจากบทเรียนที่ผ่านมาว่า ที่ขัดแย้งกันแบบนี้ และอยู่กันไปแบบนี้ แจ้งความดำเนินคดี จะยุบพรรค จะดำเนินคดี มันไม่ช่วยแก้ปัญหา มันน่าจะมีทางอื่นที่จะแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
ตอนนี้ที่เราเริ่มกันแล้ว คือ การเขียนกติกาใหม่ ไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่มันก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายหรือสมบูรณ์ในตัวเอง มันคงจำเป็นต้องทำเรื่องอื่นประกอบกันไป เช่น เมื่อเราจะร่างรัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา ระยะเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่ประเด็นปัญหา ความต้องการต่างๆ ผุดขึ้นมาได้และเรียกร้องไปพร้อมๆ กัน
บางส่วนดำเนินการไปได้พร้อมๆ กับกลไกที่มีอยู่ บางส่วนจำเป็นต้องเขียนไว้ในกติกาใหญ่ก็เขียนไป อยากให้เขามองเห็นว่านอกจากการขับเคลื่อนบนท้องถนนที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงค์ของประชาชนแล้ว ยังผันพลังเหล่านี้เข้าไปในช่องทางที่แก้ได้เป็นมรรคเป็นผล มีขั้นตอนกติกา
ประเมินท่าทีรัฐบาล - รัฐสภาต่อการชุมนุม
จริงๆ แล้ว ตอนนี้เราเห็นการขยับสำคัญของคนในรัฐสภา คือ เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ มีร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งต้องการให้แก้ ม.256 (เกี่ยวกับการกำหนดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ) และมีเพิ่มมาอีก 4 มาตรการ ที่เกี่ยวกับประเด็น ส.ว. ซึ่งจะสอดรับของร่างฯ พรรคก้าวไกล และจะมีร่างฯ ของประชาชน (ครส.) เข้ามาอีก
ทั้งหมดเหล่านี้ เห็นว่าวิธีคล้ายๆ กับหลักคลี่คลายวิกฤตของประเทศนี้ได้ ก็คือ การเขียนกติกากันใหม่ โดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเสมอกัน มันคือการนับหนึ่ง แต่สภาวการณ์ที่เห็นพ้องในรัฐสภาที่นับหนึ่งกันได้ ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของเด็กๆ ที่เคลื่อนไหวชุมนุมกดดันกันนี่แหละ เราเองทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมาใหม่ๆ ช่วงแรกรัฐบาลก็พยายามจัดเวทีตามสถานที่ต่างๆ รัฐพยายามจะบอกว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องรอง ปัญหาปากท้องสำคัญกว่า ซึ่งตอนนั้นเขาไม่รับกันเลย
หรือแม้แต่ตอนเข้า กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญที่ศึกษากันแรกๆ ที่รัฐบาลเข้ามาด้วย ที่ว่าจะมีคุมเกม แค่ ม.256 รัฐยังไม่เอาเลย ฝ่ายรัฐบาลไม่มีใครเอาสักคน ก็นำมาสู่ที่มาที่ไปที่ว่า มีกลุ่มนักศึกษารวมตัวเคลื่อนกัน ขยายตัว และสกัดข้อเรียกร้องออกมาเป็น 3 ข้อเรียกร้อง โดยหนึ่งในนั้น คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุดแล้ว
ผมคิดว่าที่ขยับในตอนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวนอกสภา แต่ก็ยังต้องเฝ้าดูต่อไปว่าเป็นทิศทางที่เราต้องการไหม ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นโอกาสให้รัฐคุมเกมส์ได้อีกชั้น ภาษาวัยรุ่นคือ "เตะหมูเข้าปากหมา" เพราะถ้าไปดู ส.ส.ร. ของพรรคร่วมรัฐบาล 150 : 50 ซึ่งใน 50 ที่เหลือก็น่าอัปยศ
โดยเฉพาะคนอยู่ในแวดวงมหาวิทยาลัย ที่คุณให้อำนาจที่ประชุมอธิบการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งโดยตัวของมัน ไม่ได้มีกฎหมายใดๆ รองรับ เป็นแค่สถานที่คนนัดคุยกันเท่านั้น ซึ่งไม่รู้คิดกันอย่างไร ให้เอกสิทธิ์ กับ ทปอ. ถึง 20 คน มันเกินกว่าที่จะรับได้ มันก็มีวิธีการที่จะเอาคนที่เขาอยากให้เข้ามา โดยเราคิดว่าคงไม่สามารถปล่อยให้เกมส์เดินไปตั้ง ส.ส.ร. และเขาเอาไปตามอำเภอใจได้ ซึ่ง ครช. ที่ผมเป็นประธาน ก็เสนอว่า สสร. ที่ประชาชนต้องการควรเป็นอย่างไร ก่อนที่รัฐสภาจะโหวตร่างรัฐธรรมนูญกันในวันที่ 23-24 ก.ย.2563 ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวข้างนอกสภาฯ ก็ยังต้องขยับคู่ขนานกันไปด้วย
แก้รัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับเป็นไปได้แค่ไหน?
ผมคิดว่ามันเป็นการต่อรอง แต่จะได้แค่ไหน อยู่ที่พลังสังคมด้วยที่จะเข้าไปกดดัน เราจินตานาการไม่ออกเลย เพราะเราตั้ง ครช.เมื่อ 19 ก.ย.ปีที่แล้ว ตอนนี้จะครบ 1 ปีแล้ว อย่างที่พรรคเพื่อไทยบอกว่า 1 ปีเสร็จ ถ้าวันที่ 23 ก.ย.นี้ โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญกัน เรายังคิดไม่ถึงตรงนั้น เพราะสถานการณ์มันพลิกผันรวดเร็วและรุนแรงทางประเด็น แต่ก็ขึ้นกับพลังทางสังคมที่จะกดดันให้เขาอยู่ในร่องในรอย
อย่างที่บอก ม.256 เมื่อก่อนแทบไม่ต้องพูดถึง รัฐไม่เอาเลย แต่ตอนนี้กลายเป็นเอกฉันท์ไปแล้วเรื่องการแก้ ม.256 ซึ่งพลังเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีพลังสังคมเข้าไปกดดัน ส่งเสียงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ผมคิดว่านิ่งแล้วประเด็นนี้ แต่อนาคตถ้าถึงช่วงของการเปิดประชุมวิสามัญ อภิปรายเรื่อง ส.ส.ร. ก็อาจต้องมีการเคลื่อนไหวข้างนอกสภาฯ เพื่อให้เขาได้ยิน และถึงเวลานั้นจะใส่รายชื่อคนจากภาคประชาชนเข้าไปได้ มันก็จะทำให้การถกเถียงอภิปรายในชั้น ส.ส.ร.มันจะยึดโยงกับข้างนอกมากขึ้น และควบคุมได้มากขึ้น
การที่เรายังเห็นในสภาฯ อิเหระเขะขะอยู่เพราะคนในสภาส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนจริง จะเห็นถึงร่างทรงของคนที่ส่งเข้ามา แต่เมื่อสามารถเกลี่ยคนข้างในออก เอาคนข้างนอกเข้าสภา กลไกที่ตั้งขึ้นมาจะเป็นไปในทิศทางที่สอดรับกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น
รัฐธรรมนูญยังใหม่ - ผ่านประชามติ ใช้ไปก่อนได้ไหม?
(หัวเราะ) ผ่านประชามติแบบนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะพูดได้เลย เราเองก็ทราบกันดีกว่า ประชามติรัฐธรรมนูญครั้งนั้น เป็นแบบมัดมือชก นอกจากนำเสนอข้อมูลข้างเดียวแล้ว ยังปิดกั้น ข่มขู่ คุกคามฝ่ายเห็นต่าง ปัจจุบันยังมีการดำเนินคดีกันอยู่เลย ยังไม่นับรวมถึงว่า หลังร่างผ่านประชามติแล้ว ยังไปแก้อีก 2-3 ครั้ง โดยไม่ได้บอกกล่าวประชาชนแต่อย่างใด
มันเป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ ไม่ใช่ฉบับเดียวกับที่ผ่านประชามติ และไอ้อันที่อ้างว่าผ่านประชามติ ผ่านกระบวนการประชามติ ก็ไม่สามารถเรียกว่าประชามติได้ด้วย