วันนี้ (23 ก.ย.2563) นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล โดยระบุว่า ญัตตินี้เสนอแก้ไข มาตรา 256 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาระยะหนึ่ง พบว่าบางมาตราไม่สอดคล้องกับบริบทสังคม เช่น การคุ้มครองสิทธิ การได้มาซึ่งองค์กรต่างๆ การตรวจสอบถ่วงดุล การกระจายอำนาจท้องถิ่น
ปัญหานี้นำมาซึ่งความเข้าใจที่ไม่ตรงกันและทำให้เกิดความขัดแย้ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม จึงเสนอให้มีการทบทวนเพื่อให้เกิดความชัดเจน ดังนั้นจึงเสนอวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความยุ่งยาก โดยเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร. เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมือง
"ปัญหาคือเรามีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งคิดว่าดีที่สุดในขณะนั้น แต่ใช้มาก็มีการปฏิวัติ ปี 2549 จากนั้นก็มีรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งปี 2557 ก็มีการปฏิวัติ แล้วมีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งเท่ากับ 10 ปี ใช้กัน 1 ฉบับ แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 นับว่าดีที่สุดแต่ก็มีส่วนบกพร่อง รัฐธรรมนูญปี 2550 –ปี 2560 ก็บกพร่อง ซึ่งการหาเสียงก่อนเลือกตั้ง มีหลายพรรคชูประเด็นว่าจะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคพลังประชารัฐไม่มีนโยบายจะแก้ไข แต่ตอนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม จึงมีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมอยู่ด้วย"
เราใช้รัฐธรรมนูญมาเกือบ 2 ปี ได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น อดีตเห็นภาพ นปช. พันธมิตร กปปส. ซึ่งเกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง ล้วนเกิดมาจากรัฐธรรมนูญ
นายวิรัช กล่าวอีกว่า วันนี้เริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา (19-20 ก.ย.) ก็มีกลุ่มประชาชนชุมนุม เริ่มเป็นกลุ่มก้อน มีกลุ่มไทยภักดีซึ่งเตรียมขยายตัวในอนาคต การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้มีปัญหาไม่ว่าจะมีการแก้ไขเล็กหรือใหญ่ก็ตามก่อนรัฐประหาร ปี 2557 ช่วงนั้นมีการแก้ไขกฎหมายแบบสุดซอย ซึ่งสุดท้ายไม่ได้ประกาศใช้และสร้างความขัดแย้ง ตนจึงไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนั้นและอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ดังนั้นสิ่งที่ ส.ส. 206 คนที่ร่วมลงชื่อ จึงมีเจตนาชัดเจนว่าไม่แก้ไข หมวด 1- หมวด 2 และหลักการอื่นก็ตรงกับญัตติของฝ่ายค้าน
ทั้งนี้ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาตนมีโอกาสพบปะพูดคุยสอบถามหลายฝ่าย ส่วนหนึ่งสบายใจว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งพวกเขา แต่ก็ไม่สามารถนำข้อเสนอทั้งหมดมาได้ ส่วนไหนที่เป็นปัญหาหรือเป็นบ่อเกิดความขัดแย้ง พรรคร่วมรัฐบาลยินดีแก้ไข และขอร้อง ส.ว. ร่วมโหวตในญัตติพรรคร่วมรัฐบาลด้วย
"สมพงษ์" ร่าย 6 ญัตติ ตั้ง ส.ส.ร.-ตัดอำนาจ ส.ว.
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายค้าน กล่าวถึงหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า หลักการแก้ไข มาตรา 256 เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก โดยวาระที่ 1 ต้องใช้เสียงของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) เกินกึ่งหนึ่ง และยังต้องได้เสียง ส.ว. อีกอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด (84 คน)
ส่วนวาระที่ 3 ต้องใช้เสียงของรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีเสียงของ ส.ส. ซึ่งสังกัดพรรคการเมืองที่ไม่มี รัฐมนตรี ,ประธานรัฐสภา ,รองประธานรัฐสภา ไม่น้อยกว่า 20% รวมถึงต้องมีเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด
นอกจากนี้ มาตรา 256 (8) ยังบัญญัติให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องจัดทำประชามติ ซึ่งทำให้กาแรก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก จนไม่อาจแก้ไขได้ ซึ่งขัดกับหลักทั่วไปของรัฐธรรมนูญที่ดี
ส่วนข้อเสนอให้ ยกเลิก มาตรา 270 และมาตรา 271 เกี่ยวกับการให้อำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูปนั้น ไม่สอดคล้องกับการปกครองระบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และไม่สอดคล้องกับระบบการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
เช่นเดียวกับหลักการแก้ไข มาตรา 159 ซึ่งกำหนดให้เลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อนายกฯ นั้น ขอเสนอให้มีการแก้ไขให้เลือกนายกฯ จาก ส.ส.ได้ด้วย ขณะเดียวกันเสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 กรณีให้อำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ
นอกจากนี้ยังเห็นควรยกเลิก มาตรา 279 ที่รับรองคำสั่งและการกระทำของ คสช. ซึ่งละเมิดเสรีภาพของบุคคล อีกทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นนิรโทษกรรมให้กับ คสช.
ท้ายสุดเสนอให้มีการระบบเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติ ไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมือง การคิดคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่แน่นอน จึงเห็นควรให้นำระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กลับมาใช้