จากกรณีสื่อมวลชนและสมาคมกู้ภัยวัดหมอนไม้ จ.อุตรดิตถ์ ระบุว่า นำศพผีตองเหลืองหญิงวัย 70 ปี ลงจากเขา หลังจากผู้เสียชีวิตถูกไม้กระดานหนีบคอตายขณะเข้าไปขโมยอาหารในกระท่อมทางเข้าห้วยจำตอง หมู่ 1 ต.นานกกก อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมานั้น
วันนี้ (26 ก.ย.2563) ชุมชนมลาบรีบ้านห้วยลู่ ต.สะเนียน อ.เมือง จ.น่าน ออกแถลงการณ์ และชี้แจงในห้าประเด็น เนื่องจากเนื้อหาการนำเสนอตามช่องทางสื่อต่างๆ ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของชนเผ่ามลาบรีทั้ง 5 ชุมชน สำหรับชาวมลาบรี มีถิ่นฐานและที่อยู่อาศัยอยู่ใน จ.น่านและแพร่ ประชากรทั้งหมด 450 คนและในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาวอีก 22 คน และไม่ปรากฏว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ยกเว้นเอกสารในอดีตเมื่อกว่า 80 ปีมาแล้ว ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฎว่ามีชุมชนมลาบรีใน จ.อุตรดิตถ์ หรือจังหวัดอื่น แต่มีชุมชนมลาบรีใน 5 หมู่บ้านตามรายชื่อดังต่อไปนี้
- บ้านห้วยลู่ อ.เมือง จ.น่าน
- บ้านห้วยหยวก อ.เวียงสา จ.น่าน
- ชุมชนมลาบรีภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
- บ้านท่าวะ อ.สอง จ.แพร่
- บ้านห้วยฮ่อม อ.ร้องกวาง จ.แพร่
ทั้งนี้ คำว่า "ผีตองเหลือง” เป็นคำที่ใช้เรียกในลักษณะของความเข้าใจผิดหรืออคติทางชาติพันธุ์เป็น คำเรียกนี้ถือว่าดูถูกและลดทอนความเป็นมนุษย์ ควรเรียกว่า "มลาบรี" ที่แปลว่า “คนป่า” เพราะเป็นคนที่อยู่กับป่า ไม่ใช่ผีใช่สางแต่อย่างใด ความคิดที่เข้าใจว่า การอยู่อาศัยทำเพิงใบไม้จนเพิงเหี่ยวเป็นสีเหลืองถึงจะย้ายที่อยู่ จนมีความเข้าใจว่าเป็นชนเผ่าตองเหลืองนั้น คำว่า “ตอง” ภาษาเมืองแปลว่า “ใบไม้” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ชาวมลาบรีจะอาศัยอยู่ในเพิงใบไม้โดยไม่ต้องรอให้เหี่ยวหรือเหลืองก็ได้ ขึ้นอยู่กับทรัพยากรและความปลอดภัยในพื้นที่เป็นหลัก
ที่ผ่านมาพบว่า หากหาอาหารได้น้อยหรือมีคนชนเผ่าอื่นเข้ามาบริเวณที่อยู่อาศัย ทั้งกลุ่มก็จะอพยพโยกย้ายไปที่อื่น อีกทั้งชนเผ่ามลาบรีไม่ชอบให้คนเรียกพวกเขาว่าเป็นผีสาง อยากให้สื่อที่นำเสนอ หาข้อมูลให้รอบด้านและรับผิดชอบต่อประเด็นการนำเสนอดังกล่าว
รู้จักความหมาย “ผีตองเหลือง” ทุกมิติ
คำว่า “ผีตองเหลือง” ในภาษาพื้นเมืองในอดีต หรือ กำมะเก่า จะมีคำพูดติดปากว่าผีตองเหลือง ที่ไม่ใช่ความหมายถึงชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงคนที่มีอาการป่วยทางจิต คนเร่ร่อน หรือคนที่ทำตัวแปลกๆ เร่ร่อนตัวคนเดียว ชอบลักเล็กขโมยน้อยอาศัยวัดหรือกระท่อมอยู่ บางคนอาจเป็นคนที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง บางคนอาจเป็นคนสติเลอะเลือน คนใบ้ คนสมัยก่อนในชนบทภาคเหนือก็จะมีคำเรียกว่า บ้าผีตองเหลือง แต่ไม่ได้หมายถึงชนเผ่าที่มีวิถีภาษา
ที่เป็นอัตลักษณ์ทางวิถีชีวิตที่เรียกว่า วัฒนธรรมเก็บหาของป่าล่าสัตว์ (hunting-gathering culture) ในประเด็นนี้ พี่น้องมลาบรีได้โทรติดต่อมลาบรีทั้ง 5 พื้นที่ ไม่ปรากฏว่าผู้เสียชีวิตในข่าวเป็นญาติพี่น้องหรือเป็นคนที่รู้จัก จึงมีข้อสงสัยว่าในเมื่อข่าวระบุว่าไม่ทราบชื่อผู้เสียชีวิตและไม่พบบัตรประจำตัวประชาชน ทำไมสื่อมวลชนหรือเจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ ทราบว่าผู้เสียชีวิตเป็นผีตองเหลือง
ขณะเดียวกันชาวมลาบรีโดยธรรมชาติและพื้นเพดั้งเดิมเป็นกลุ่มชนที่ไม่มีการลักเล็กขโมยน้อย มลาบรียอมทำงานรับจ้างจนตายในไร่ด้วยซ้ำมากกว่าจะไปลักขโมย การให้ข่าวว่ามลาบรีจะออกมาลักขโมยในตอนกลางคืนเพื่อเอาของกินไปให้ลูกๆในป่ากินนั้น สร้างความเสื่อมเสียให้ชาวมลาบรีอย่างมาก จึงขอให้ผู้ให้ข้อมูลและผู้นำเสนอข่าวแสดงความรับผิดชอบในประเด็นดังกล่าวด้วย
ขณะนี้พบว่าเริ่มมีกลุ่มคนบางกลุ่มเริ่มที่จะใช้ข่าวดังกล่าวเรี่ยไรเงินเพื่อที่จะนำมาบริจาค โปรดอย่าหลงเชื่อและให้การสนับสนุนเพราะอาจถูกหลอกหรือใช้เป็นเครืองมือในการหาผลประโยชน์ ปัจจุบันมีโครงการพระราชดำริฯ และกรมป่าไม้ที่ทำงานให้ความช่วยอหลือพี่น้องมลาบรีในหลายพื้นที่ โดยให้พื้นที่ทำกินสร้างชุมชนที่มั่นคง ดูแลคุณภาพชีวิตและรักษาอนุรักษ์วิถีภูมิปัญญา ภาษาและองค์ความรู้ท้องถิ่นกับการพัฒนาเพื่อความมั่นคงด้านต่างๆ มายาวนาน
ปัจจุบัน ชาวมลาบรีไม่ใช่ชนเผ่าที่น่าสงสาร แต่เป็นชนเผ่าที่มีศักดิ์ศรี และมีชีวิตที่มั่นคงในนะดับหนึ่งและไม่ได้น่าเวทนาเหมือนที่ออกข่าว
ล่าสุด วันนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมกู้ภัยวัดหมอนไม้ จ.อุตรดิตถ์ โพสต์เฟซบุ๊กขอโทษชาวมลาบรีสำหรับการใช้คำว่า "ผีตองเหลือง" ซึ่งได้ยินจากชาวบ้านมารายงานเหตุการณ์และผลงานของสมาคมกู้ภัยวัดหมอนไม้
สมาคมกู้ภัยวัดหมอนไม้ กราบขอโทษ "ชาวชนเผ่ามะละบริ" ที่จังหวัด น่าน และชาวจังหวัดน่านด้วยครับ...
โพสต์โดย สมาคมกู้ภัยวัดหมอนไม้ จ.อุตรดิตถ์ เมื่อ วันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2020