วันนี้ (1 ต.ค.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการรื้อทีโออาร์โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีการควบรวมข้อเสนอทางด้านเทคนิคและราคามาเป็นเกณฑ์ให้คะแนนในการพิจารณาว่าได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบอยู่ เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานเจ้าของเรื่องที่รัฐบาลมอบหมายให้ไปดำเนินการ ทั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นห่วงว่าโครงการจะล่าช้า
แหล่งข่าวจากศาลปกครองกลาง เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นโจทก์ฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการการถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
กรณี รฟม.ส่งหนังสือถึงเอกชน 10 ราย ที่ซื้อซองเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท และได้แจ้งการขอปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน โดยนำคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ประเมินร่วมกับข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทนในสัดส่วน 30 : 70
โดยเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา BTSC ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและศาลได้นัดไต่สวน วันที่ 22 ก.ย. แต่ทาง รฟม. ขอเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากอ้างว่าเตรียมเอกสารไม่ทัน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ที่ต้องจ่ายมากว่าวิธีเดิม และการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาภายหลังเปิดขายซอง หลังจากเจ้าของโครงการทราบแล้วว่ามีเอกชนรายใดซื้อซองแสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลถือว่าไม่เป็นธรรมอาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบได้เนื่องจากได้ทราบคุณสมบัติของผู้สนใจแล้ว
ส่วนความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้คุ้มครองฉุกเฉินกรณี รฟม.รื้อทีโออาร์สายสีส้ม นั้น ขณะนี้ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนครั้วแรกวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยทั้ง 2 ฝ่าย คือ บีทีเอส และ รฟม.ก็จะเข้าใไปชี้แจงข้อมูล ซึ่งยืนยันการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์กลางคันไม่เป็นธรรมและมีโอกาสที่ผู้ซื้อซองบางรายจะเสียเปรียบ เพราะมีการรวมข้อเสนอเทคนิคและราคามาให้คะแนน เป็นการใข้ดุลพินิจมากเกินไป
อย่างไรก็ตามหลังศาลปกครองกลางไต่สวนนัดแรกคาดจะใช้ระยะเวลาอีก 1-2 สัปดาห์ ศาลฯน่าจะมีคำตัดสินออกมาถ้าหากรับคุ้มครองฉุกเฉินกระบวนการประมูลก็หยุดไว้ก่อน แต่หากไม่รับคุ้มครองฉุกเฉินกระบวนการก็เดินหน้าต่อไป แต่คาดว่าจะทันกับการเปิดให้ยื่น วันที่ 9 พ.ย. ซึ่งจะรู็ว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร
ส่วนกรณีที่จะมีบริษัทอื่น ๆ ที่ซื้อซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฟ้องร้องร่วมหรือไม่ ไม่ทราบ เป็นสิทธิ์ของเขา
ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า วันนี้จะส่งหนังสือร้องเรียนของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย มาร้องเรียนให้ตรวจสอบการแก้ไขทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสีส้ม และขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมคณะกรรมการคัดเลือกตาม มาตรา 36 ให้กับกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยของรัฐ โดยจะให้พิจารณาเอกสารหลักฐานที่นายศรีสุวรรณ ยื่นมาเข้าองค์ประกอบความผิดในอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้