ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเบื้องหลัง! คนไทยเนียนเป็นครูต่างชาติ ช่องโหว่ ร.ร.เอกชน

สังคม
2 ต.ค. 63
10:13
3,083
Logo Thai PBS
เปิดเบื้องหลัง! คนไทยเนียนเป็นครูต่างชาติ ช่องโหว่ ร.ร.เอกชน
ไทยพีบีเอสออนไลน์เปิดเบื้องหลังคนไทยเนียนเป็นครูต่างชาติ​ บางบริษัททำสัญญากับโรงเรียนเอกชนตั้งเงื่อนไขคนไม่จบครูก็สอนได้​ แต่ห้ามพูดภาษาไทยกับนักเรียนเด็ดขาด​

หลังเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ กรณีครูพี่เลี้ยงทำร้ายนักเรียนของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยตรวจสอบพบครูในโรงเรียนมีใบประกอบวิชาชีพครู จำนวน 98 คน จากทั้งหมด 411 คน ขณะที่ครูต่างชาติ 4 คนก็ถูกไล่ออก เมื่อเข้ามาพัวพันแล้วตรวจพบว่าวีซ่าใช้ผิดประเภท

ล่าสุด สื่อสังคมออนไลน์กำลังวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นร้อนอีกเรื่องหลังนายจักรกฤต โยมพยอม หรือ ครูทอม ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ โดยโควตทวีต "ลองตรวจสอบโรงเรียนในประเทศไทยทั้งหมดดิ ครูต่างชาติทั้งหมดที่ทำงานมี work permit ถูกต้องกี่คน?" แล้วระบุว่า "และครูต่างชาติกี่คน ที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่คนต่างชาติ แต่เป็นครูคนไทยเนียนเป็นครูฟิลิปปินส์" 

 
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามไปยังครูทอมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยพบว่า ครูทอมทราบเรื่องนี้จากรุ่นน้องที่รู้จักซึ่งได้เข้าไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่เป็น English Program ซึ่งในกรณีดังกล่าวโรงเรียนก็ได้รับรู้ว่าครูเป็นคนไทย ไม่ได้มีการปิดบังอะไร แต่หลังจากเผยแพร่ข้อความในทวิตเตอร์ไป ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

บางคนเข้ามาเล่าว่า เคยเจอครูคนไทยเนียนเป็นชาวต่างชาติสอนภาษาอังกฤษ โดยที่โรงเรียนไม่รู้มาก่อน บางคนก็ถูกส่งไปสอนผ่านเอเจนซี่ที่ดีลงานกับโรงเรียน

ครูทอม ระบุว่า การใช้ครูคนไทยสอนภาษาอังกฤษโดยบอกว่าเป็นชาวต่างชาตินั้น หากมองในแง่บวก อาจเป็นกุศโลบายของโรงเรียนที่ต้องการให้นักเรียนกล้าพูดภาษาอังกฤษ โดยบอกเด็กว่า หากพูดภาษาไทยทิชเชอร์อาจไม่เข้าใจนะ หรือในต่างประเทศมีงานวิจัยที่ระบุว่า หากต้องการสอนลูกพูดภาษาที่ 3 แล้วในครอบครัวนั้นเลี้ยงหมา ให้บอกลูกว่า ต้องใช้ภาษาที่ 3 หมาถึงจะเข้าใจ โดยพ่อแม่ก็ต้องทำเป็นตัวอย่างพูดภาษาที่ 3 ด้วย จะช่วยทำให้ลูกเรียนรู้ภาษาที่ 3 ได้ไวมากขึ้น เหมือนเป็นการกระตุ้นเด็ก

 

อย่างไรก็ตาม ในแง่ลบ การใช้ครูไทยสอนภาษาต่างประเทศนั้น เด็กจะได้เพียงภาษาเท่านั้น แต่ไม่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมหรือแง่มุมทางความคิดของชาวต่างชาติที่อาจมีความแตกต่างกับประเทศไทย ดังนั้น การเรียนกับชาวต่างชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการเรียนภาษา

คิดว่าค่านิยมของคนไทย หรือผู้ปกครอง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนต้องหาครูต่างชาติมาสอน บางโรงเรียนไม่ได้ใช้ครูคนไทย แต่ไปรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาสอนก็มี ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่ชาวต่างชาติทุกคนจะสอนภาษาอังกฤษได้ดี เหมือนกับที่คนไทยทุกคนก็ไม่ได้สอนภาษาไทยได้

เล่าหมดเปลือก อดีตครูสอนอังกฤษ ห้ามพูดไทยกับเด็กทั้งวัน 

ขณะที่อดีตครูไทยที่สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เปิดเผยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กรณีที่พบนั้นไม่ได้มีการปลอมตัวเป็นชาวต่างชาติเพื่อมาสอนภาษาอังกฤษ แต่บริษัทซึ่งเป็นสถาบันภาษาได้ตั้งเงื่อนไขสำคัญ คือ ห้ามพูดไทยในโรงเรียนหรือต่อหน้านักเรียนเด็ดขาด

หลังได้รับการติดต่อจากบริษัทดังกล่าวให้ไปสัมภาษณ์จึงได้เดินทางไป คิดว่าจะมีการทดสอบภาษาอังกฤษ บริษัทกลับสัมภาษณ์ด้วยคำถามพื้นฐานเท่านั้น และไม่ได้มีการตรวจใบประกอบวิชาชีพครู ก็ให้เซ็นสัญญาเข้าทำงาน พร้อมให้เข้าอบรมการสอนก่อนเปิดเทอม

เขาไม่ได้กำหนดว่าต้องเรียนจบอะไรมา แค่ถามให้รู้ว่าเราพอพูดอังกฤษได้ไหม บางคนยังอ่านออกเสียงผิด ก็รับเข้าทำงาน เซ็นสัญญาทันที โดยก่อนเปิดเทอมให้อบรมการสอนเพียงไม่กี่วันเท่านั้น 

ในหนังสือสัญญามีเงื่อนไขสำคัญ คือ  พร้อมให้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้ตัวเองก่อนเข้าไปเริ่มงาน แม้เงินเดือนจะดีมาก แต่หากสอนไม่ครบตามสัญญา ต้องจ่ายชดเชยกว่า 100,000 บาท ทำให้คนที่เซ็นสัญญาไปแล้วต้องจำใจสอนจนครบสัญญา

สำหรับบริษัทที่เข้าทำงานถือเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง ส่งครูไปสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนครบทุกภาคในประเทศ โดยมีคนที่ถูกส่งไปเป็นครูประมาณ 100 คน เป็นคนไทยทั้งหมด แต่บริษัทมีโปรแกรมที่น่าสนใจ คือ เน้นการสอนโดยหากิจกรรมหรือเกมสนุกๆ มาสร้างสีสันให้นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างมีความสุข

แม้ว่าจะสอนเด็กให้มีความสุข แต่ส่วนตัวกลับต้องเผชิญกับความกดดันและความเครียด เนื่องจากต้องงดพูดภาษาไทยตลอดทั้งวัน และไม่สะดวกในการออกไปใช้ชีวิตนอกโรงเรียน จนทำให้ไม่กล้าออกจากที่พักถ้าไม่จำเป็น

บางครั้งนักเรียนก็ทักว่า Teacher Speak Thai, Teacher เป็นคนไทย แต่เราก็พยายามจะทำหน้าที่ให้เต็มที่ สอนเด็กให้เข้าใจมากที่สุด 

 

ทั้งนี้​ อดีตครูสอนภาษาอังกฤษคนนี้​ ระบุว่า​ ตลอดเวลาที่ต้องทำตามสัญญา​ รู้สึกว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ระบบการศึกษาไทย​ หากครูในระบบสอนได้สนุกและสร้างสรรค์จนทำให้นักเรียนชื่นชอบแล้ว​ การทำสัญญากับบริษัทเพื่อส่งครูมาสอนอาจไม่จำเป็น​

อย่างไรก็ตาม​ การสอนหนังสือส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น​ ที่ผ่านมาครูในระบบได้รับการสอนอย่างไร​ ก็ส่งต่อการสอนตามรูปแบบเดิม​ จึงคิดว่าควรมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง