ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทางออกฟื้นภูเก็ตหลัง COVID-19

เศรษฐกิจ
2 ต.ค. 63
18:57
1,264
Logo Thai PBS
ทางออกฟื้นภูเก็ตหลัง COVID-19
ทีมข่าวเศรษฐกิจไทยพีบีเอสสัญจรที่จ.ภูเก็ต นำเสนอปัญหาเศรษฐกิจหลากหลายแง่มุมที่เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 ระบาด และอาจจะเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก มีหลากหลายทางออกที่คนภูเก็ต สะท้อนสิ่งที่จะพาภูเก็ตฟื้นตัว

วันนี้ (2 ต.ค.2563) ไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ภูเก็ตไปถามชาวภูเก็ตและคนทำงานในภูเก็ตแต่ละคน ยังไม่คิดถึงโอกาส และอนาคต บางคนอาหารในมื้อต่อไป ยังไม่รู้จะมีกินหรือไม่ แต่หากจังหวัดหรือรัฐบาลมองเห็นรากปัญหาของภูเก็ตคืออะไรจะใช้จังหวะนี้สร้างโอกาสรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจภูเก็ตได้ในคราวเดียวกัน

ที่ทำให้เดือดร้อนไปทุกที่ทุกประเทศ ภูเก็ตหนักมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง รายได้การท่องเที่ยวที่เป็น เครื่อง ยนต์เศรษฐกิจใหญ่มากกว่า 3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ 15 เปอร์เซ็นต์มาลงที่ภูเก็ต นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปีที่แล้ว 39 ล้านคน มาเที่ยวภูเก็ตมาก 1 ใน 4

 

"ภูเก็ต" เป็นเหมือนฮับของการสร้างรายได้ พอกระทบหนักยิ่งกว่าสึนามิ การระบาดของ COVID-19 เหมือนมะเร็งร้ายกัดกร่อนทำลายอวัยวะสำคัญ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงมีความเฉพาะมาก ปัญหาลึกและยาว เฉพาะหน้าที่ชัดจึงเป็นเรื่องหนี้สิน การพักชำระหนี้ธนาคารจะครบกำหนดเดือน ต.ค.นี้ นี้ มาตรการรัฐยังไม่พอ ยังมีหนี้อีกหลายแบบ ลิสซิ่ง หนี้เอสเอ็มอี ที่เร่งด่วนไม่มีรายได้เข้ามา ลาจากภูเก็ตไม่น้อย แม้จะไปทำอาชีพอื่นแต่ก็ใช่ว่าจะรอด

พักชำระหนี้สิ้นสุด-รอนายกเยียวยา 

น.ส.ทิพยสุคนธ์ ทองตัน ชมรม ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหา COVID-19 ภูเก็ต บอกว่า การพักชำระหนี้จะสิ้นสุดในเดือนต.ค.นี้ เหมือนระเบิดเวลาของพี่น้องชาวภูเก็ต อยากนำพลังทั้งหมดสะท้อนไปถึงนายกรัฐมนตรี จะต้องอยู่ที่ท่านคนเดียว

จังหวัดช่วยประนอมหนี้ได้นิดหน่อย และกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดได้อย่างงานหรอยริมเล หรืองานประเพณีต่างๆ แต่บางเรื่องขึ้นอยู่กับนโยบายธนาคารแต่ละแห่ง หรือแบงก์ชาติที่กำกับดูแล บางเรื่องจังหวัดจัดการไม่ได้ ความหวังจึงไปอยู่ที่ส่วนกลาง ที่ทำให้แรงงานในภูเก็ตไปยื่นข้อเรียกร้องในกรุงเทพหลายครั้ง

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่คนภูเก็ตเชื่อมั่นว่ามีอำนาจจัดการ และสั่งการได้เพียงคนเดียว อีกส่วนหนึ่ง ก็มีแนวคิดว่าในเมื่อภูเก็ตมีทรัพยากร มีศักยภาพอยู่มาก น่าจะถูกดึงมาชูเป็นจุดสร้างเศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องคิดต่อคือการวางรากฐานที่ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภูเก็ต ภายใต้โจทย์ที่ยึดการต่อยอดจากธุรกิจท่องเที่ยว นำทรัพยากรที่มีอยู่ไปสร้างมูลค่าเพิ่ม

ภาคเอกชนได้ระดมความเห็น และชู 6 ยุทธศาสตร์ ที่จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการท่องเที่ยว 6 ยุทธศาสตร์นี้ เอกชนเรียกว่า "เจมส์" (GEMMSS)  ประกอบด้วย อาหารท้องถิ่น การศึกษา ศูนย์กลางมารีน่า  ศูนย์กลางด้านสุขภาพเมืองอัจฉริยะ และอุตสาหกรรมสปอร์ตแอนด์อีเวนต์

 

ความเห็นของนายนิพนธ์ เอกวานิช ประธานกรรมการบริหาร บ.ภูเก็ตพัฒนาเมือง 

เมดิคัลฮับคงต้องใช้เวลา เพราะเกี่ยวกับงบประมาณ แต่สถานที่พยาบาลมีอยู่แล้ว แต่จะสร้างศูนย์ใหม่ใช้เวลานาน สิ่งที่ทำได้ทันทีคือด้านแกสโตรโนมี (Gastronomy) อาหารที่เรามีอยู่แล้ว โปรโมทเพิ่มขึ้น

เฉพาะกลุ่ม "อาหารท้องถิ่นภูเก็ต" คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน จ.ภูเก็ต ประเมินมูลค่าธุรกิจ อยู่ที่ 99,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยูเนสโก ได้ยกระดับให้ภูเก็ต เป็นเมืองระดับโลกด้านแกสโตรโนมี (Gastronomy) หรือเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องภูมิปัญญาด้านอาหารและวัฒนธรรมอาหาร แต่อีกด้านภูเก็ตก็มีปัญหาในเรื่องการผลิต เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหาร

ชู "ซิตี้ ออฟ แกสโตรโนมี"

อย่างเห็ด เป็นที่นิยมมากถ้าเป็นช่วงที่ไม่มีการระบาดของ COVID-19 ความต้องการในแต่ละวัน อยู่ที่ประมาณ 5-7 ตัน แต่สามารถผลิตในจังหวัดภูเก็ตได้ไม่เกิน 500 กิโลกรัมต่อวัน ปัญหานี้ ก็เลยเป็นที่มาของการวางแผนจะเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการเกษตรของภูเก็ต ทั้ง ความสะอาด ปลอดภัย และพัฒนาให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวของจังหวัด"ซิตี้ ออฟ แกสโตรโนมี"

นายชาลี สิตบุศย์ เกษตร จังหวัดภูเก็ต มองว่า แนวทางของจังหวัดต่อไปจะมีศูนย์รวมผลผลิตการเกษตรที่มีความปลอดภัยคัดกรองมาที่นี่ และส่งต่อไปที่โรงแรม ร้านค้าต่างๆถือเป็นนโยบายหนึ่งที่จะดำเนินการอยู่

 

นอกจากการส่งเสริมการเกษตรกับอาหาร ยังมีแผนจะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรควบคู่ไปด้วย
แต่ภูเก็ตก็มีข้อจำกัด เรื่อง ที่ดิน และ ราคาที่ค่อนข้างสูง จึงเป็นคำถามว่า ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ ภาคการเกษตรของภูเก็ต จะพัฒนาไปได้แค่ไหน เพราะนักวิชาการและภาคธุรกิจ มองว่า การพัฒนาทำได้ค่อนข้างยาก

ทั้งนี้แม้ว่าราคาที่ดินสูง เกษตรอาจไม่พอ ต้องไม่ลืมว่า COVID-19 ทำให้ไทยเด่นชัดเรื่องมาตรฐานป้องกันโรค ดังนั้นจึงมีธุรกิจอีกกลุ่มที่โ COVID-19 ทำอะไรไม่ได้ นั่นคือ second home ที่ต่างชาติจำนวนมากอยากหาบ้านในพื้นที่ปลอดโรค ภูเก็ตมีทั้งสนามบิน โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลอินเตอร์ มีหาดทรายสายลม เหมาะใช้ชีวิตหลังรีไทร์ และพักระยะยาว เป็นอีกโจทย์ที่น่าสนใจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

พิษ COVID-19 กระทบธุรกิจ "ภูเก็ต" ล้มเป็นโดมิโน

ภูเก็ตใช้จุดขายด้านอาหารดึงนักท่องเที่ยว

คนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ปรับตัวขายของหลังตกงาน

ธุรกิจท่องเที่ยวปิดตัว กระทบนศ.การท่องเที่ยว

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง