วันนี้ (9 ต.ค.2563) นายโสภณ ดำนุ้ย อดีตผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ เปิดแถลงข่าวกรณีถูกพาดพิงในข้อร้องเรียนกรณีปัญหาภายในสวนสัตว์สงขลา โดยระบุว่า จากข้อร้องเรียน 21 ประเด็น เห็นว่าคล้ายกับสมัยที่ตนเองจะขึ้นเป็นซีอีโอ เพราะก่อนจะขึ้นเป็นผู้บริหารมักจะถูกร้องเรียน
ทำไมถึงถูกพาดพิงใน 21 ข้อ
แต่ยุคตนเองถูกร้องเรียนเพียง 10 ประเด็นเท่านั้น แตกต่างจากนายสุริยา แสงพงค์ อดีต ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ ที่ถูกร้องเรียนมากถึง 21 ข้อ มีทั้งข้อเท็จจริงบ้าง หรือถูกใส่ร้ายบ้าง ที่ผ่านมาได้เพราะมีบอร์ดฯ สวนสัตว์พิจารณาข้อร้องเรียนว่ามีมูลหรือไม่ และเมื่อไม่พบข้อเท็จจริงจึงได้ก้าวสู่ซีอีโอ
กรณีนายสุริยาก็เช่นกัน ถูกร้องเรียนตั้งแต่ปี 2561 เพราะรู้ว่าจะได้ขึ้นเป็นซีอีโอ แต่พวกที่ไม่เห็นด้วยก็ดันไว้ก่อน จึงออกมาเป็น 21 ข้อเรียกร้อง
เกี่ยวข้องเอกชนอย่างไร
นายโสภณ ยกตัวอย่างข้อเรียกร้อง 21 ข้อ เช่น ประเด็นที่ระบุว่า นำลูกวัวกระทิงผสมไปฆ่า แต่ความเป็นจริงโครงการนี้ดำเนินการร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสถาบันสมิธโซเนียนขออังกฤษ เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องโรควัวบ้า จึงมีแนวคิดใหม่นำวัวกระทิงไปผสมกับวัวบ้าน
และพิสูจน์ว่า ลูกวัวสามารถนำไปประกอบอาหารได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการศึกษาทางวิชาการ
ส่วนอีกประเด็นที่ระบุว่า บริษัทก็อตเทรดมีความสัมพันธ์กับตนเอง ในการจัดซื้อสัตว์ ยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อ และระเบียบพัสดุ รวมทั้งส่งสัญญาให้กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และ สตง.ตรวจสอบ โดยไม่พบความผิดปกติ ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับกรณีนายสุริยา ที่ถูกร้องเรียน 21 ข้อ และไม่พบความผิดปกติจึงขึ้นสู่ซีอีโอ
ถูกมองสวนสัตว์ฟอกสัตว์?
นายโสภณ ยังกล่าวถึงประเด็นปัญหานอแรดและงาช้าง ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพิ่มตั้งขึ้น จึงขอให้รอผลตรวจสอบดังกล่าว และตนเองไม่สามารถให้ความเห็นได้ เนื่องจากพ้นตำแหน่ง ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ มานาน 10 ปีแล้ว
นอกจากนี้ นายโสภณยังกล่าวถึงปัญหาการจัดซื้อสัตว์ป่ามาโชว์ในสวนสัตว์ ว่า ขณะนี้ ทส.อยู่ระหว่างการแก้ระเบียบและกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมาได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่ามากกว่า 500 ฉบับ
และบางฉบับ ทส.ต้องออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับ โดยกฤษฎีกาช่วยตรวจสอบรายละเอียด ยกตัวอย่างการกำหนดชนิดสัตว์ป่าให้รัดกุมมากขึ้น เช่น แยกประเภทสัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าควบคุม สัตว์ป่าอันตราย รวมทั้งการอนุญาตให้เพาะพันธุ์และจำหน่ายสัตว์บางประเภทได้ เพื่อตรวจสอบบริษัทที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง หรือสัญญาร่วมระหว่างสวนสัตว์และเอกชน
ในส่วนที่ค้าได้ผู้ค้าก็ต้องมีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งก็เป็นงานหนักของกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ต้องดูแลเรื่องการคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างรอบด้าน ตนก็ได้ร่วมปรึกษากับกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ด้วยเช่นกัน
สมัยเป็น ผอ. มีปัญหาทุจริตหรือไม่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีการทุจริตหรือการลักลอบค้าสัตว์ป่าในสวนสัตว์สงขลาหรือไม่ นายโสภณกล่าวว่า น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะตามระเบียบมีการตรวจนับตามบัญชีทุกขั้นตอน มี สตง. ลงพื้นที่มาตรวจนับ ว่าสัตว์ครบตามตามบัญชีหรือไม่ บางส่วนหากพบความผิดก็จะมี ป.ป.ช.ลงมาสอบอีก
สมัยผมไม่มีทุจริต เพราะเป็นยุคที่กำลังพัฒนาให้สวนสัตว์เทียบเท่าระดับสากล ต้องมีการควบคุม ตรวจนับสัตว์และสัตว์ที่เข้ามาต้องถูกต้อง ป้องกันข้อผิดพลาด
คณะกรรมการดังกล่าวมีทั้งผู้เชี่ยวชาญ ทหาร ตำรวจ จึงอยากให้รอผลการสอบสวนจากทางเจ้าหน้าที่ดีกว่า ซึ่งนายสุริยา และ นสพ.ภูวดล สุวรรณะ ต่างเป็นนักพัฒนาและนักอนุรักษ์ที่ดี ทำงานด้านสัตว์ป่ามานาน แต่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจเกิดความขุ่นข้องหมองใจกัน ทำสูญเสียบุคลากรที่ดีทั้งคู่
กู้วิกฤตสวนสัตว์อย่างไร
เมื่อถามถึงความคาดหวังของการตรวจสอบปมสวนสัตว์โดยคณะกรรมการฯ ชุดใหม่นั้น ตนยังไม่เห็นรายชื่อ แต่เชื่อว่าน่าจะมีคำตอบให้สังคมได้ เพราะ รมว.ทส.ลงมาดูแลเอง ส่วนตัวเคยเป็น ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ อยากเห็นความเปลี่ยงแปลงที่ดีขึ้น เหมือนในยุคที่สวนสัตว์รุ่งเรืองและทุกคนมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนสวนสัตว์
ส่วนที่เป็นปมปัญหาขณะนี้ทราบว่านายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการลงมาตรวจสอบแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พบ 21 ปม ร้องผู้บริหารฯ โยงคดี "สวนสัตว์สงขลา"
ทำไมต้องรื้อคดี “นอแรด” หายจากสวนสัตว์สงขลา
ค้าสัตว์ใน “สวนสัตว์” อิทธิพล-ผลประโยชน์