วันนี้ (27 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากใช้เวลา 2 วัน การประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมัยวิสามัญตาม มาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย เพื่อพิจารณาเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองใน 3 ญัตติ คือเรื่องข้อกังวลการชุมนุมต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประเด็นเหตุการณ์ผู้ชุมนุมบางส่วนกับขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563 กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใน กทม. และเหตุการณ์ ครม. อ้างอิงเหตุขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณสี่แยกปทุมวัน เมื่อคืนวันที่ 16 ต.ค.ด้วยการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง และการนัดหมายชุมนุมต่อเนื่องในหลายสถานที่
ที่ประชุมส่วนใหญ่อภิปรายในประเด็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรต้องเร่งหาทางออก เพื่อไม่ให้เกิดาสถานการณ์บานปลาย รวมทั้งต้องการเสนอให้มีการรับฟังและตั้งคณะทำงานสมานฉันท์ เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมมีพื้นที่ปลอดภัยในการรับฟัง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นข้อเรียกร้องขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก หรือประกาศยุบสภา เพราะมองว่าเป็นต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะไม่เชื่อมั่นว่าจะพาประเทศสู่ทางออกจากความขัดแย้ง

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน บอกว่า นายกรัฐมนตรี ทุกคนเป็นศูนย์รวมของปัญหาอยู่ที่ว่าจะเลือกแก้ปัญหาอย่างไร เพราะแม้แต่ในอดีตยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็เคยถูกเดินขบวน แต่ท่านก็ลาออกเร็ว หรือแม้แต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ถ้านายกฯ ไม่ลาออก ก็เลือกว่าจะพาประเทศจบยังไง ในเมื่อผู้ชุมนุมขีดเส้น 3 วัน ถ้าไม่ลาออกจะยกระดับการชุมนุม แต่ถ้านายกฯ ลาออกแล้วจบหรือไม่ อย่างน้อยก็แก้รัฐธรรมนูญ และยังเหลืออีกเรื่องคือปฏิรูปสถาบัน
ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมวิสามัญมีประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีเวลาน้อย และจำกัด จึงขอเสนอตั้งคณะกรรมการที่จะหาทางออกให้ประเทศไทย
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ญัตติตาม มาตรา 165 ที่รัฐสภาเสนอมา ใช้เวลาในการอภิปราย 2 วันถือว่าจบสิ้นแล้ว เรื่องนี้ไม่มีการลงมติ จึงไม่มีการสรุป

นายกฯ ถามมีรัฐบาลใดลาออกจากชุมนุมหรือไม่
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนปิดการประชุมฯ ว่า ในฐานะที่เป็นนายกฯ ยอมรับได้ที่มีผู้กล่าวโจมตีการทำงานในหลายๆ ด้านรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในทุกมิติแบบค่อยเป็นค่อยไป
ย้อนกลับไป ปี 49 และปี57 มีคนลาออกเพราะชุมนุมหรือไม่ และตอนนี้คนเหล่านั้นอยู่ที่ไหน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า กรณีการชุมนุมยืนยันว่าตนรักลูกหลานทุกคน รักเด็ก นิสิตและนักศึกษาทุกคนคือพลังของแผ่นดินในวันข้างหน้า แต่เราควรสร้างความเข้าใจกัน ทุกคนคือเสียงหนึ่งของประเทศไทย ส่วนตัวยอมรับฟังอาจมีบางเรื่องที่ทำได้และทำไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ไม่โทษใคร แต่ต้องข้อสังเกตว่ามีเบื้องหลังหรือไม่ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ซึ่งต้องหาวิธีแก้ไข
ผมจะไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัวเพื่อหนีปัญหา ผมจะไม่ละทิ้ง หน้าที่ด้วยการลาออกในยามที่ชาติบ้านเมืองมีปัญหา ผมยังคงแก้ไขปัญหาต่างๆที่ยังรออยู่อย่างเร่งด่วน
ส่วนเรื่องชุดนักเรียน นายกฯ ชี้แจงว่าทำให้เกิดความประหยัด ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน และทำให้เกิดความปลอดภัยเมื่ออยู่นอกสถานศึกษา แต่วันนี้โลกเปลี่ยนแล้ว ซึ่งยอมรับได้จึงอยากให้นำไปคิดทบทวน เพราะไม่อยากฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งห้าม! "ประยุทธ์" ลาออก ชี้ทำลายระบอบประชาธิปไตย
ระทึก! "ส.ส.วิสาร" กรีดแขนกลางสภา ประท้วงนายกฯ
"วิโรจน์" ห่วงวาทกรรม “พล.อ.ประยุทธ์” ผลิตซ้ำเหตุการณ์ 6 ตุลา