หากไม่นับรวมลูกเรือต่างชาติ คณะทูตหรือนักกีฬา กลุ่มชาวต่างชาติที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เปิดรับให้เข้าไทยได้นั้น ก็คือกลุ่มที่คาดหวังว่าจะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้คล่องตัวขึ้น
เมื่อกันยายน ศบค.ได้เคาะกลุ่มที่เปิดรับคือ
- นักท่องเที่ยวภายใต้ Special Tourist VISA (STV) ที่เที่ยวแบบพำนักระยะยาว
- นักธุรกิจที่ถือวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) รวมไปถึงนักท่องเที่ยวระยะสั้นและระยะยาว โดยทั้ง 2 กลุ่มต้องมีบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือนเทียบบาทไทยไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท
- ผู้ถือบัตร APEC Card สำหรับนักธุรกิจใน 19 ประเทศ มีสิทธิพิเศษเข้าประเทศในกลุ่มสมาชิกแบบระยะสั้นๆ ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า และขั้นตอนการเข้าเมืองก็สะดวกรวดเร็ว เบื้องต้นนำร่องประเทศที่ ศบค.ประเมินว่ามีความเสี่ยงน้อย เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง
ทำให้ชาวจีนเริ่มเดินทางเข้ามาตลอดตุลาคม และวันที่ 1 พ.ย.นี้ มีกำหนดเที่ยวบินจากประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย คือ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และอาจรวมถึงประเทศในกลุ่มเชงเกนด้วย
(ความตกลงเชงเกนทำให้สามารถเดินทางผ่านประเทศสมาชิกได้ด้วยวีซ่าใบเดียว กลุ่มสแกนดิเนเวียอยู่ในเชงเกนด้วย)
ล่าสุด แม้ ศบค.จะยังไม่ตอบชัดเจนว่ามีนักท่องเที่ยวจากประเทศอะไรบ้างที่ขอวีซ่า STV แต่จะยึดจากประกาศระดับความเสี่ยงแต่ละประเทศของกรมควบคุมโรคที่ประเมินทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งไทยจะเปิดรับกลุ่มความเสี่ยงระดับต่ำและระดับกลาง ส่วนหน่วยงานที่จะอนุญาตให้ประเทศเหล่านี้เข้ามาได้คือกระทรวงการต่างประเทศ
สถานการณ์ COVID-19 แต่ละประเทศ
การประเมินระดับความเสี่ยงมาจากหลายปัจจัย แต่เมื่อดูเพียงสถิติผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 29 ต.ค. 63 ชี้ว่า ไทยมีอัตรารักษาหายร้อยละ 94 ส่วนประเทศที่มีอัตรารักษาหายใกล้เคียงกันคือเกินร้อยละ 90 พบว่ามี 12 ประเทศ จาก 44 ประเทศ ล้วนอยู่ในกลุ่ม APEC Crad ไม่มีในกลุ่มเชงเกนเลย
ทั้งนี้เมื่อดูกลุ่ม APEC Crad ที่ไทยเปิดรับก่อนพบว่ามีเพียงมาเลเซียที่มีอัตรารักษาหายต่ำกว่ามาก คือร้อยละ 66 และยังต่ำที่สุดในกลุ่ม APEC Crad ด้วย
ส่วนประเทศในกลุ่มเชงเกนที่มีอัตรารักษาหายมากที่สุดคือเอสโตเนีย ร้อยละ 79 รองลงมาคือเดนมาร์กและฟินแลนด์
ขณะที่ประเทศอัตรารักษาน้อย ไม่ถึงร้อยละ 10 คือ สเปน ฝรั่งเศส เบลเยียม กรีซ และเนเธอร์แลนด์ โดยหลายประเทศในยุโรปยังพบผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจำนวนมาก
เมื่อสำรวจประเทศอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยนอกเหนือจากกลุ่มที่กล่าวมา พบว่า สหราชอาณาจักรมีอัตรารักษาหายร้อยละ 0.29 ส่วนอินเดียแม้จะมีอัตรารักษาหายร้อยละ 91 แต่มีผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษาเกือบ 600,000 คน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก
ส่วนประเทศเพื่อนบ้านนอกจากมาเลเซีย มีอัตรารักษาหายดังนี้ กัมพูชาร้อยละ 97 ลาวร้อยละ 92 เมียนมาร้อยละ 60
ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเมินระดับความเสี่ยงเพื่อออกคำแนะนำการเดินทางระหว่างประเทศ จากสถานการณ์การติดเชื้อและศักยภาพด้านสาธารณสุขของประเทศนั้นๆ ในปัจจุบันและปัจจัยอื่นๆ
ระดับความเสี่ยงเพื่อออกคำแนะนำการเดินทางระหว่างประเทศ ณ วันที่ 26 ต.ค. 63 โดย US CDC
พบไทยและนิวซีแลนด์อยู่ในระดับเสี่ยงต่ำ บรูไน-เวียดนาม-ไต้หวันอยู่ในระดับเสี่ยงต่ำมาก ขณะที่ประเทศอื่นอยู่ในระดับเสี่ยงสูงเป็นส่วนใหญ่
- เสี่ยงสูง 199 ประเทศ
- เสี่ยงปานกลาง 5 ประเทศ
- เสี่ยงต่ำ 7 ประเทศ
- เสี่ยงต่ำมาก 22 ประเทศ
- ไม่มีข้อมูลพอประเมิน 13 ประเทศ
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ
10 ประเทศแรกที่มีมูลค่าการค้ากับไทยสูงสุดอยู่ในกลุ่ม APEC โดยในปี 2562 กลุ่ม APEC จำนวน 19 ประเทศ + 2 เขตเศรษฐกิจ มีมูลค่าการค้ารวม 10.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด 15 ล้านล้านบาท
รายได้จากการท่องเที่ยว
ในปี 2562 มีชาวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคนหลั่งไหลเที่ยวไทย โดยเฉพาะชาวจีนที่มากกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ทั้งในแง่จำนวนคนและการสร้างรายได้
รองลงมาคือชาวมาเลเซียและรัสเซีย ทั้ง 3 ประเทศอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงตามการประเมินของ US CDC เช่นเดียวกับญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ แต่ประเทศเอเชียเหล่านี้มีอัตรารักษาหายสูงเกินร้อยละ 90
ส่วนประเทศกลุ่มเชงเกนส่วนใหญ่นั้นมีจำนวนนักท่องเที่ยวและการสร้างรายได้ ที่น้อยกว่ากลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
แต่เมื่อดูอัตราการเปลี่ยนแปลงจำนวนนักท่องเที่ยวและการสร้างรายได้ เทียบปี 2561-2562 พบว่า ชาวอินเดียมีอัตราเปลี่ยนแปลงสูงที่สูงที่สุด ส่วนจีนอยู่ในระดับคงที่ ขณะที่กลุ่มเชงเกนส่วนใหญ่ติดลบ
แม้จะไม่มีข้อมูลวัตถุประสงค์การเดินทางเข้าไทยในปี 2562 แต่หากอ้างอิงข้อมูลปี 2561 พบว่าชาวต่างชาติร้อยละ 91 หรือ 34.7 ล้านคน มาท่องเที่ยว และร้อยละ 3 หรือ 1.1 ล้านคนติดต่อธุรกิจ
อีกร้อยละ 6 หรือ 2.3 ล้านคนมาด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น การประชุมเชิงธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ งานแสดงสินค้า/นิทรรศการ การศึกษา การกีฬา หรือการแพทย์ เป็นต้น
จังหวัดท่องเที่ยว
หากไม่นับรวมกรุงเทพฯ แล้วละก็ภาคใต้ถือเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติเสมอมา โดยแต่ละภูมิภาคมีส่วนสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติในปี 2562 มูลค่า 123,457.43 ล้านบาท ลำดับดังนี้
- ภาคใต้ 45,592.78 ล้านบาท
- ภาคตะวันออก 20,075.8 ล้านบาท
- ภาคเหนือ 3,651.41 ล้านบาท
- ภาคตะวันตก 1,430.53 ล้านบาท
- ภาคกลาง 1,085.07 ล้านบาท
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 353.01 ล้านบาท
3 จังหวัดที่มีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทขึ้นไปได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี โดยกรุงเทพฯ ทิ้งช่วงห่างจากทุกจังหวัด กินสัดส่วนมากถึงร้อยละ 42 ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศ
และ 6 จังหวัดมีรายได้ 1,000-9,999 ล้านบาท, 12 จังหวัดมีรายได้ 100-999 ล้านบาท, 21 จังหวัดมีรายได้ 10-99 ล้านบาท และ 8 จังหวัดที่รายได้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท