ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา! 11 วัคซีน COVID-19 ทั่วโลก ได้ใช้เร็วสุดกลางปี 2564

Logo Thai PBS
จับตา! 11 วัคซีน COVID-19 ทั่วโลก ได้ใช้เร็วสุดกลางปี 2564
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เปิดข้อมูลล่าสุด วัคซีน COVID-19 ทั่วโลก พบ 11 วัคซีนเข้าสู่การศึกษาเฟส 3 คาดพร้อมใช้เร็วสุดหลังกลางปี 2564 ชี้ขณะนี้วัคซีนที่ผ่านการศึกษาในคน หรือระยะ 3 อาจประสบความสำเร็จในการใช้จริงเพียง 50%

วันนี้ (3 ต.ค.2563) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์การพัฒนาวัคซีน COVID-19 โดยระบุว่า ปัจจุบัน 88 บริษัท หรือ 88 องค์กรทั่วโลกทดลองและพัฒนาวัคซีน COVID-19 โดยมี 35 บริษัท อยู่ในการทดลองระยะที่ 1 ศึกษาในสัวต์ทดลอง ขณะที่ 14 บริษัท เข้าสู่การทดลองระยะที่ 2 และ 11 บริษัทเข้าสู่การทดลองในระยะที่ 3 ซึ่งต้องรอผลการศึกษาประสิทธิภาพว่าสามารถป้องกัน COVID-19 ได้หรือไม่

เมื่อเข้าสู่เฟส 3 จะเข้าสู่ระยะ Limited ซึ่งยังอยู่ในระยะทดลองอยู่ แต่บางประเทศที่มีความจำเป็นอาจต้องอนุโลมให้ใช้วัคซีนก่อนได้ ขณะนี้มี 6 บริษัท ให้ใช้วัคซีนก่อนในบางพื้นที่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนตัวใดที่ผ่านการทดสอบทั้งหมด

สำหรับกลุ่มบริษัทที่ศึกษาระยะ 3 ทั้ง 11 บริษัท ได้แก่ ตัวแรกเป็นวัคซีนของสหรัฐฯ จากบริษัท moderna โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ mRNA vaccine (Genetic vaccine) เริ่มศึกษาระยะ 3 ในเดือน ก.ค.ปีนี้ ศึกษากับกลุ่มทดลอง 30,000 คน โดยเป็นผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 7,000 คน ยังต้องรอดูประสิทธิภาพผลการป้องกันการติดเชื้อ แต่อาจมีการขอใช้วัคซีนแบบฉุกเฉินปลายปี 2563

ภาพ : AFP PHOTO / HENRY FORD HEALTH SYSTEM

ภาพ : AFP PHOTO / HENRY FORD HEALTH SYSTEM

ภาพ : AFP PHOTO / HENRY FORD HEALTH SYSTEM


วัคซีนตัวที่ 2 เป็นของบริษัท  BioNTech Pfizer และ Fosun Pharma เป็นบริษัทสัญชาติเยอรมนี สหรัฐฯ และจีน ร่วมกัน โดยใช้เทคโนโลยี mRNA vaccine (Genetic vaccine) เช่นกัน ศึกษากับกลุ่มทดลอง 43,000 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอดูประสิทธิภาพผลการป้องกันการติดเชื้อ คาดว่าจะผลิตให้เพียงพอต่อประชากรโลกในปลายปี 2564

สำหรับวัคซีนตัวที่ 3 เป็นของบริษัทประเทศจีน CanSinoBIO ใช้ Adenovirus (Ad5) เป็นตัวนำเชื้อ (Viral vector vaccine) ใช้ไวรัสตัวหนึ่งที่ไม่ก่อโรคในคนแล้วนำพันธุกรรมของวัคซีน COVID-19 เข้าไป เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในตัวคน ศึกษาในซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และรัสเซีย

ขณะที่ในรัสเซีย โดยสถาบัน Gamaleya ใช้ Adenovirus 2 ชนิด (Ad5, Ad26) เป็นตัวนำเชื้อ (Viral vector vaccine) ไปผสมกับวัคซีน COVID-19 ตั้งชื่อวัคซีนป้องกัน COVID-19 ว่า Sputnik V ขณะนี้ศึกษาระยะ 3 กลุ่มทดลองจำนวน 40,000 คนใน เบลารุส, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เวเนซุเอลา และอินเดีย เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าป้องกัน COVID-19 ได้

ภาพ : AFP PHOTO / RUSSIAN DIRECT INVESTMENT FUND / HANDOUT

ภาพ : AFP PHOTO / RUSSIAN DIRECT INVESTMENT FUND / HANDOUT

ภาพ : AFP PHOTO / RUSSIAN DIRECT INVESTMENT FUND / HANDOUT

 

สหรัฐฯ พัฒนาวัคซีน COVID-19 แบบฉีดแค่ 1 เข็ม

วัคซีนตัวที่ 4 ของ Johnson & Johnson ในสหรัฐอเมริกา ใช้ Adenovirus (Ad26) เป็นตัวนำเชื้อ (Viral vector vaccine) เริ่มศึกษาระยะ 3 กลุ่มทดลองจำนวน 60,000 คน เป็นวัคซีนตัวเดียวที่ฉีด 1 เข็ม เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2020 พบว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มทดลอง 1 คน ก่อนจะกลับมาศึกษาต่อใน 11 วัน ผลของการทดลองระยะ 3 คาดจะแล้วเสร็จปลายปี 2563 และจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 1,000 ล้านโดสในปี 2564

ขณะที่ AstraZeneca และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จับมือพัฒนาวัคซีน COVID-19 เป็นความร่วมมือกันระหว่างอังกฤษและสวีเดน โดยใช้ Chimpanzee Adenovirus (ChAdOx1) เป็นตัวนำเชื้อ (Viral vector vaccine) ขณะนี้ศึกษาระยะ 3 จำนวน 30,000 คน ในบราซิล แอฟริกาใต้ และสหรัฐฯ โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา พบภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มทดลอง 1 คน ทำให้หยุดการศึกษาไป 1 สัปดาห์ และวันที่ 21 ต.ค. กลุ่มทดลองเสียชีวิต 1 คนในบราซิล ก่อนที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) จะกลับมาศึกษาต่อในวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับกลุ่มทดลองที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิตนั้น บอกไม่ได้ว่าเป็นคนที่ได้รับวัคซีนหรือไม่ เพราะในการทดลองจะไม่รู้ว่าใครได้ยาจริง ใครได้ยาหลอก ดังนั้น เมื่อเสียชีวิตจะไม่เปิดเผยว่าเป็นคนที่ได้ยาจริงหรือยาหลอก แต่จะมีทีมเข้าไปศึกษาโดยตรงอีกครั้ง


วัคซีนตัวต่อมา คือ วัคซีนของบรัษท NOVAVAX สหรัฐฯ ใช้ Coronavirus protein ในการผลิต Protein-based vaccine เริ่มศึกษาระยะ 3 จำนวน 15,000 คน ในอังกฤษ เมื่อวันเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และศึกษาในสหรัฐฯ เมื่อเดือน ต.ค.คาดว่าผลการศึกษาจะออกในต้นปี 2564

จีนใช้เชื้อ COVID-19 อ่อนแรงพัฒนาวัคซีน

วัคซีนตัวที่ 7 มาจากประเทศจีน โดย Wuhan Institute of Biological Products และศึกษาโดยบริษัท Sinopharm ใช้เชื้อ Coronavirus ที่อ่อนแรงหรือตาย (Inactivated/Attenuated coronavirus vaccine) ไม่ก่อให้เกิดโรคแต่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ เริ่มศึกษาระยะ 3 ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และในเปรู โมร็อกโก เดือน ต.ค. และในวันที่ 14 ก.ย. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนแบบฉุกเฉิน เร่งด่วนแก่บุคลากรที่ดูแลด้านสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบเชิงลบ

นอกจากนี้ สถาบัน Beijing Institute of Biological Products ของจีน ยังใช้เชื้อ Coronavirus ที่อ่อนแรงหรือตาย (Inactivated/Attenuated coronavirus vaccine) โดยเริ่มศึกษาระยะ 3 ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอาร์เจนตินา โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนนี้แบบฉุกเฉิน เร่งด่วนแก่บุคลากรที่ดูแลด้านสุขภาพ โดยเดือน ต.ค.2563 ประธานบริษัทได้ประกาศจะผลิตวัคซีนทั้ง 2 ชนิดให้ได้ปีละ 1,000 ล้านโดส

วัคซีนตัวที่ 9 เป็นความร่วมมือของ Indian Council of Medical Research และ National Institute of Virology โดยบริษัท Bharat Biotech ผลิตวัคซีนชื่อ Covaxin ใช้เชื้อ Coronavirus ที่อ่อนแรง หรือตาย (Inactivated/Attenuated coronavirus vaccine) โดยเริ่มศึกษาระยะ 3 ในวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา


นอกจากนี้ บริษัท Sinovac Biotech ของจีน ยังได้ผลิตวัคซีนชื่อ CoronaVac โดยใช้เชื้อ Coronavirus ที่อ่อนแรงหรือตาย (Inactivated/Attenuated coronavirus vaccine) เมื่อเดือน ก.ค.2563 เริ่มศึกษาระยะ 3 ในบราซิล ต่อด้วยอินโดนีเซีย และตุรกี ขณะที่เดือน ก.ย.2020 ศึกษาระยะ 1 และ 2 ในเด็ก และวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา บราซิล ประกาศเป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุดในวัคซีน 5 ตัวที่ทำการศึกษาระยะ 3

เดือน ต.ค.รัฐบาลจีนอนุมัติให้ฉีดวัคซีนนี้แก่บุคลากรที่ทำงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมทั้งบุคลากรที่ดูแลด้านสุขภาพและทำงานในบริการสาธารณะในเมือง Jiaxing

ขณะเดียวกัน Sinovac กำลังเร่งโครงการผลิตวัคซีน CoronaVac เพื่อกระจายให้ประชาคมโลก โดยในเบื้องต้นผลิต 40 ล้านโดสให้อินโดนีเซีย ภายใน เดือน มี.ค.2564 และภายในต้นปี 2564 จะผลิตออกสู่โลก รวมทั้งไปสหรัฐฯ

การผลิตวัคซีนทั้งหมดไม่ใช้เรื่องง่าย

อย่าเข้าใจว่าผ่านระยะ 3 แล้วจะได้ใช้วัคซีนอย่างรวดเร็ว เพราะกระบวนการผลิตไม่ใช่เรื่องง่าย โดยทั้ง 11 ตัว มีเพียง 1 ตัวที่ออกแบบมาให้ฉีดเพียงครั้งเดียว ที่เหลือต้องฉีด 2 ครั้ง หรือ 2 โดส

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า ไวรัสบางตัวเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอาจไม่เป็นอีกตลอดชีวิต แต่บางตัวเมื่อเป็นแล้วอาจต้องฉีดวัคซีนเพิ่ม แต่มีงานวิจัยหลายชิ้น ยืนยันว่า ภูมิคุ้มกัน COVID-19 เป็นภูมิคุ้มกันระยะสั้น ซึ่งเป็นเหตุผลให้ต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม และการฉีด 2 เข็ม เมื่อเข้าสู่สายพานการผลิตต้องใช้จำนวนผลิตเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว

วัคซีนที่ทดลองในสัตว์ประสบความสำเร็จจริงในคนเพียง 7%  ส่วนวัคซีนที่เข้าสู่การศึกษาในคนประสบความสำเร็จเพียง 20% ขณะเดียวกันวัคซีนที่ผ่านการศึกษาในคนระยะ 3 อาจประสบความสำเร็จในการใช้จริงเพียง 50%

ทั้งนี้ เหตุผลของการต้องผลิตวัคซีนในหลากหลายรูปแบบ เนื่องจากคนจากต่างพื้นที่ ต่างวัย อาจตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนไม่เหมือนกันโดยวัคซีนที่จะพร้อมใช้ให้คนทั่วโลก ไม่น่าเร็วไปกว่ากลางปี 2564 สิ่งสำคัญคือ ทุกคนควรใช้วัคซีนที่ติดมาตั้งแต่เกิด ดูแลตัวเอง ทั้งสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ไม่อยู่ที่แออัด

การสรุปสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล #siriraj #ศิริราช

โพสต์โดย sirirajpr เมื่อ วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2020

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง