ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตายอดขาย "11.11" นาทีทองอีคอมเมิร์ซ ใครได้ประโยชน์ ?

เศรษฐกิจ
11 พ.ย. 63
13:09
2,445
Logo Thai PBS
จับตายอดขาย "11.11" นาทีทองอีคอมเมิร์ซ ใครได้ประโยชน์ ?
11.11 นาทีทองร้านค้า–​เปลี่ยนรสนิยมขาช็อป แต่ภายใต้ยอดขายที่เติบโตกลับซ่อนสินค้าจากยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากแดนมังกรอยู่หลายร้อยล้านชิ้น "ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ" กรรมการสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ร่วมคลี่ปมเทศกาลดับเบิ้ลเดย์ที่แท้ใครได้ประโยชน์
เทศกาล 11.11 หรือแคมเปญดับเบิ้ลเดย์ กำลังเปลี่ยนรูปแบบตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

เทศกาล 11.11 ที่เหล่านักช็อปเฝ้ารอหวนกลับมาอีกครั้ง เทศกาลลด แลก แจก แถมกระตุ้นยอดขายวันคนโสดของอาลีบาบา ได้รับผลตอบรับถล่มทลายมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้อาลีบาบาจัดโปรโมชันต่อเนื่อง 11 วัน ข้อมูลเมื่อเวลา 00.30 น. ของวันนี้ (11 พ.ย.2563) ทำยอดขายได้กว่า 372,300 ล้านหยวน หรือ ราว 1,710,065 ล้านบาท โดยรวมทุกหมวดหมู่ของงานทั้ง 11 วัน พร้อมด้วยสถิติคำสั่งซื้อสูงสุด 583,000 รายการต่อ 1 วินาที สะท้อนความสำเร็จของมหกรรม 11.11 จนนำมาสู่กลยุทธ์การขายของชาวอีคอมเมิร์ซไทย 


"ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ" ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บริษัท TARAD.com และกรรมการสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย มองว่า เทศกาล 11.11 หรือแคมเปญดับเบิ้ลเดย์ กำลังเปลี่ยนรูปแบบตลาดอีคอมเมิร์ซไทย "มันจะชะลอการจ่าย รวมกำลังซื้อ แล้วอั้นมาจ่ายในวันเดียว" โดยจะส่งผลให้รสนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ร้านค้าออฟไลน์ถูกกระทบแบบดับเบิ้ลเช่นกัน ด้วยโปรโมชันที่ล่อใจจากแบรนด์ต่างๆ ทำให้ลูกค้าเลือกที่จะรอเพื่อซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลดับเบิ้ลเดย์แทนการไปซื้อสินค้าหน้าร้าน

การรอซื้อสินค้าในเทศกาลดับเบิ้ลเดย์สะท้อนว่าคนที่ขายหน้าร้านจำเป็นต้องปรับตัวอย่างจริงจัง หากไม่มีตัวตนในออนไลน์ ต้องบอกว่ากระทบหนัก

สินค้าจีนครองตลาดไทย ฉวยกำไรดับเบิ้ลเดย์

ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บริษัท TARAD.com มองว่า แม้จะไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่ผลประกอบการในเทศกาลดับเบิ้ลเดย์ โดยเฉพาะ 11.11 ปีก่อน มีมูลค่าทางการตลาดโตขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปีนี้ยังต้องจับตามองถึงการเติบโตของยอดขาย หลายคนให้ความสำคัญกับตัวเลขโดยรวมจนมองข้ามไปว่า ยอดขายที่โตขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดอีคอมเมิร์ซ

จากข้อมูลสินค้าจีนในตลาดอีคอมเมิร์ซมีอยู่กว่า 330 ล้านชิ้น เทียบกับสินค้าไทยมีอยู่เพียง 30-40 ล้านชิ้นเท่านั้น


การแข่งขันบนสังเวียนอีคอมเมิร์ซกับยักษ์ใหญ่แดนมังกร ผู้ค้าไทยยังต้องปรับตัว ท่ามกลางความได้เปรียบของสินค้าจีน ที่ส่งตรงเข้าตลาดไทยด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า เพราะเป็นสินค้าล็อตใหญ่จากโรงงาน ขณะที่ผู้ค้าไทยยังต้องเผชิญกับค่าขนส่ง ภาษีนำเข้า และต้นทุนที่สูงกว่าจากการสั่งสินค้าล็อตเล็ก เมื่อนำสินค้ามาเปรียบเทียบราคาบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าจากจีนมากกว่า

ในอนาคตแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยยังเป็นสิ่งที่หลายคนคาดหวัง เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า ผู้ค้าไทยยังต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจอยู่ ทั้งโซเชียลมีเดียหรืออีมาร์เก็ตเพลสต่างๆ

สินค้าต่างชาติครองตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

สอดคล้องกับข้อมูลเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้า priceza.com ได้เปิดเผยผลสำรวจและพฤติกรรมของนักช็อปอีคอมเมิร์ซคนไทย พบ 40% เลือกซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย รองลงมา 35% เลือกซื้อผ่านอีมาร์เก็ตเพลส (E-Marketplace) เช่น Lazada, Shopee และ JD.com และ 25% ซื้อผ่าน E-Tallers ช่องทาง e-commerce ของธุรกิจที่มีหน้าร้านอยู่แล้ว เช่น Tesco Lotus, Central, HomePro, King Power, Big C และอื่นๆ


priceza.com ยังให้ข้อมูลอีกว่า อัตราการเติบโตของตลาดออนไลน์ ปี 2561 เติบโต 4.69% ปี 2562 เติบโต 8.71% โดยคาดว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นการซื้อสินค้าไร้พรมแดนมากยิ่งขึ้น เมื่อดูจากจำนวนสินค้าที่คนไทยซื้อผ่านทางช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Lazada Shopee และ JD.com จาก 74 ล้านชิ้น สู่ 174 ล้านชิ้น เทียบกับปีก่อนถือว่าสูงขึ้น 2.4 เท่า

ในขณะที่จำนวนสินค้านั้นมีสินค้าไทยเพียง 23% และเป็นสินค้าจากต่างประเทศกว่า 77% นอกจากนี้ ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศเริ่มสั้นลง จนเหมือนรอไปรษณีย์มาส่งจากต่างจังหวัด กลายเป็นบททดสอบสำคัญของผู้ค้าอีคอมเมิร์ซคนไทย

ผู้ค้าไทยต้องปรับตัว สร้างกลยุทธ์สู้ศึกไร้พรมแดน

น.ส.เบญจมาศ ไชยวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนำเข้าสินค้าจากจีน เปิดเผยว่า มหกรรม 11.11 ถือเป็นมาตรการที่ดีที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ค้ารายย่อยที่ขายได้ราคาถูกไม่เท่ากับโรงงานจีน จึงต้องหันมาใช้กลยุทธ์เน้นขายเอาปริมาณแทน โดยการจัดโปรโมชัน จับคู่สินค้า การสื่อสารกับลูกค้า หรือการยิงแอดโฆษณาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ดียิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านการนำเข้าสินค้าจากจีน ระบุว่า ผู้ค้าส่วนใหญ่เริ่มหันมาเพิ่งอีมาร์เก็ตเพลสทั้ง Lazada Shopee และ JD.com กันมากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มมีบริการยิงโฆษณาโปรโมชันร้านค้าให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะที่การขายผ่านโซเชียลมีเดียผู้ค้ากลับต้องเสียเงินเป็นก้อน เพื่อจ่ายค่าโฆษณา แลกกับยอดขายจนกลายเป็นการเพิ่มต้นทุน ลดกำไรให้น้อยลงไปอีก


ท่ามกลางการแข่งขันตลาดอีคอมเมิร์ซที่ไร้พรมแดน และการเติบโตที่ก้าวกระโดด ทั้งจำนวนร้านค้า ยอดขาย และเทคโนโลยี เมื่อนำเข้าสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศ แทนที่จะเป็นคนกลางซื้อมา-ขายไป แบบที่ใครๆ ก็ทำได้ สุดท้ายทางรอดของผู้ค้าไทย คือ การปรับตัว โดยการเพิ่มมูลค้าให้สินค้า จัดโปรโมชันจับคู่สินค้า หรือถ้าสู้ไหว การสร้างแบรนด์ตัวเองจะยิ่งสร้างความยั่งยืนในตลาดอีคอมเมิร์ซที่ยังเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนใครที่ยังอยู่เฉยก็อาจต้องแพ้น็อกในสังเวียนอีคอมเมิร์ซเป็นคนต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง