ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

'ปฏิรูปรถเมล์' เมื่อ 8 บาทของเราไม่เท่ากัน

สังคม
27 พ.ย. 63
05:22
2,110
Logo Thai PBS
'ปฏิรูปรถเมล์' เมื่อ 8 บาทของเราไม่เท่ากัน
แผนปฏิรูปรถเมล์อาจะส่งผลกระทบต่อคนจน เช่นจากการยกเลิกรถเมล์ราคาถูก การกำหนดค่าโดยสาร 30 บาทต่อวัน หรือเส้นทางที่เน้นป้อนคนสู่ระบบรถไฟฟ้า

สำหรับผู้ใช้บริการรถเมล์อยู่เป็นประจำคงสังเกตว่ารถเมล์หลายสายที่เราคุ้นเคย ทั้งรถเมล์แบบพัดลมที่เรียกติดปากกันว่า ‘รถเมล์ร้อน’ สีครีมแดงหรือรถเมล์แอร์สีส้มของ ขสมก.เริ่มหายไป นี่เป็นส่วนหนึ่งของการปรับเส้นทางในแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ที่ขาดทุนหนักสะสมมานาน

โดยให้ 1 สายมี 1 ผู้ประกอบการ เพื่อลดการแข่งขันแย่งชิงผู้โดยสาร จนเกิดความเสี่ยงบนท้องถนน และลดคุณภาพการให้บริการ เส้นทางที่ ขสมก.เลิกเดินรถแล้วให้เอกชนเต็มตัว เช่น

  • 1 พ.ค.63 เลิกสาย 203 (ท่าอิฐ-สนามหลวง) ให้ บจก.บางกอก 118
  • 11 ก.ย.63 เลิกสาย 75 (พุทธบูชา-หัวลำโพง) ให้ บจก.แกรนด์ซิตี้บัส
  • 1 พ.ย.63 เลิกสาย 29 (รังสิต-หัวลำโพง) ให้ บจก.สมาร์ทบัส และสาย 207 (ม.ราม1-ม.ราม2) ให้ บจก.ฉมาพันธ์การเดินรถ
  • ม.ค.64 กำหนดเลิกสาย 26 (มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)

(ว่าที่) เส้นทางรถเมล์ใหม่

ที่ผ่านมาเส้นทางเดินรถพบปัญหาหลายอย่าง ทำให้ไม่สามารถวางแผนการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งระยะทางยาวเกินไป มีหลายสายวิ่งทับซ้อนในเส้นทางเดียวกัน และไม่สอดคล้องเมืองขยายตัว

แม้จำนวนผู้โดยสารรถเมล์ ขสมก.ก่อนปี 2560 มีแนวโน้มลดลง แต่การศึกษาคาดการณ์ปริมาณการเดินทางของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลทุก 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2585 พบว่าจะมีการใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2565 ผู้โดยสารรถเมล์มีอัตราเพิ่มขึ้นที่ลดลง แต่ผู้โดยสารรถไฟฟ้ามีอัตราเพิ่มที่สูงขึ้น จนรถไฟฟ้ากลายเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักแทนที่รถเมล์ ด้วยเหตุนี้ในแผนปฏิรูปจึงวางโครงข่ายรถเมล์เป็น ‘Feeder’ รับส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าอย่างน้อย 1 สถานี แล้วยังขยายออกสู่ชานเมือง เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวหรือห้างสรรพสินค้ามากขึ้น

เส้นทางใหม่ ขสมก.จะเดินรถ 108 เส้นทาง เอกชนเดินรถ 54 เส้นทาง รวม 162 เส้นทาง เฉพาะเส้นทางของ ขสมก.แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ

  • เส้นทางหลัก 40 เส้นทาง
  • เส้นทางรอง 15 เส้นทาง ที่ป้อนคนเข้าสู่ขนส่งมวลชนอื่น
  • เส้นทางวงกลม 29 เส้นทาง วิ่งเชื่อมต่อเส้นทางหลัก-รอง
  • ขึ้นทางด่วน 24 เส้นทาง

การจัดสรรใหม่อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบ้าง เช่น สาย 29 จากเดิม รังสิต-หัวลำโพง ก็จะเป็นบางเขน-หัวลำโพง (กรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้เดินรถเส้นทางเดิมเป็นการชั่วคราว)

โดยเส้นทางของเอกชนได้มีการออกใบอนุญาตไปบางส่วนแล้ว แต่เส้นทางของ ขสมก.ต้องรอให้แผนฟื้นฟูผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ตอนนี้จึงยังไม่เห็นรายละเอียดว่าแต่ละเส้นทางนั้นเดินรถแตกต่างจากเดิมอย่างไร ระบุเพียงต้นทาง-ปลายทางที่ต่างไปจากเดิมในสายที่เอกชนได้รับสัมปทาน

(ดูเส้นทางปฏิรูปได้ที่ท้ายข่าว)

รถเมล์ร้อนกำลังจะหมดไป

สภาพรถเมล์ชำรุดทรุดโทรม เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้โดยสารประสบบ่อยครั้ง ถึงขนาดไฟไหม้ลุกท่วมก็มีมาแล้ว รถเมล์ที่ยังประจำการ 3,005 คันของ ขสมก.มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี จำนวน 2,340 คัน ปัจจุบัน มีหนี้ค่าเหมาซ่อมสูงถึง 219 ล้านบาท

 

ด้วยค่าซ่อมบำรุงที่นับวันจะสูงขึ้นสวนทางประสิทธิภาพของรถ กอปรกับค่าเชื้อเพลิงดีเซลที่แพงกว่า ทำให้ ขสมก.หันมาใช้รถพลังงานทางเลือก เช่น รถก๊าซธรรมชาติ NGV หรือรถไฟฟ้า EV ซึ่งเป็นรถปรับอากาศทั้งหมด

 

โดยแนวทางตามแผนฟื้นฟูฯ ฉบับ เม.ย.63 แตกต่างจากฉบับก่อนหน้า คือจะไม่ซื้อรถใหม่เพราะต้องแบกรับค่าซ่อม แต่ใช้วิธีเช่ารถแทน เป็นรถไฟฟ้า EV จำนวน 2,511 คัน ให้บริการควบคู่กับรถ NGV ที่ซื้อมาก่อนหน้านี้ 489 คัน ทดแทนรถโดยสารเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซล เช่นเดียวกันกับรถร่วมบริการของเอกชนที่กำหนดให้ต้องเป็นรถ EV หรือ NGV เท่านั้น

‘กะสว่าง’ รับส่งคนทำงาน

ขสมก.เดินรถตั้งแต่ 05.00-23.00 น. มีเพียงรถเมล์สีครีมแดงที่มีกะสว่าง คือเดินรถต่อจนชนเช้า เรียกได้ว่าเดินรถตลอดคืน ขณะที่เวลาเดินรถของรถเมล์เอกชนมีความแตกต่างกันแต่ละบริษัท แต่ละสาย ช่วงเวลาส่วนใหญ่ประมาณ 04.00-22.00 น.

 

เมื่อทยอยเลิกใช้รถเมล์ครีมแดงแล้ว หากไม่ปรับเวลาให้บริการของรถเมล์ชนิดอื่นมาวิ่งในเวลาเดิมนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ทำงานยามวิกาลทั้งที่เพิ่งเลิกงานหรือกำลังไปทำงาน ตัวเลือกในการเดินทางประเภทอื่นอย่างรถแท็กซี่ อาจแพงเกินไปสำหรับรายได้รายวันของผู้มีรายได้น้อย

8 บาทของเราไม่เท่ากัน

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ผู้โดยสาร 1 คนใช้บริการวันละ 16 กม. จะจ่ายค่าโดยสารเฉลี่ยเที่ยวละ 25 บาท ไป-กลับเท่ากับวันละ 50 บาท จึงมีการเสนอจัดเก็บอัตราค่าโดยสารคนละ 30 บาท/วัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน

แนวทางนี้ดูจะคุ้มค่าคุ้มราคา แต่อาจไม่ใช่สำหรับคนจนหรือคนชายขอบของสังคม

ข้อมูลจากดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2562 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า กรุงเทพฯ มีสัดส่วนคนจนร้อยละ 1.4 แม้ดูไม่มากแต่หากนับเป็นตัวคนก็เกือบ 80,000 คน

"คนจน" ที่กล่าวถึงคือผู้ที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจน แสดงถึงความสามารถในการจ่าย โดยปี 2562 เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,762 บาท/คน/เดือน ต่ำกว่าเกณฑ์ผู้มีรายได้น้อยของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 เท่า (คือผู้มีรายได้ไม่เกิน 1000,000 บาท/คน/ปี เฉลี่ย 8,333 บาท/เดือน)

 

หากนำค่ารถเมล์ที่ถูกที่สุด คือรถเมล์ร้อนราคา 8 บาท มาคิดสัดส่วนรายได้รายวันของผู้ที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท (เดือนละ 9,000 บาท) เปรียบเทียบกับผู้ที่ได้ค่าแรงวันละ 100 บาท (เดือนละ 3,000 บาท)

8 บาทสำหรับคนค่าแรงขั้นต่ำจะเท่ากับร้อยละ 2.67 แต่จะเท่ากับร้อยละ 8 สำหรับคนจน และราคา 30 บาทก็จะสูงถึงร้อยละ 30 เลยทีเดียว

 

แน่นอนว่าการปฏิรูปรถเมล์ จำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย แต่การพัฒนานั้นไม่อาจหลงลืมคนชายขอบของสังคมที่กระทั่งนโยบายช่วยเหลือจากรัฐไปไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนไร้บ้านต่างมีสิทธิเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานไม่ต่างจากทุกคน

ติดตามกันต่อไปว่าแผนปฏิรูปที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้ว จะมีมาตรการดูแลคนทุกกลุ่มอย่างไร

 ฟังเสียงผู้โดยสารกับการปฏิรูปรถเมล์

 

162 เส้นทางปฏิรูป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง