เครือข่ายคนรักพุมดวงระบุว่า โครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำพุมดวง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งใช้งบประมาณเกือบ 500 ล้านบาทจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงและตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าวมีช่องว่างในหลายด้าน โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบยังไม่รอบด้าน ขาดการทำประชาพิจารณ์ซึ่งครอบคลุมประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริง จึงเรียกร้องให้ทางผู้บริหาร อบจ.สุราษฎร์ธานีที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเข้ามาเป็นตัวกลางแก้ปัญหาให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน
นายธีรพล รัตนา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ในแม่น้ำพุมดวง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี กังวลว่า หลังกรมชลประทานเตรียมก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำพุมดวง ซึ่งกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังจำนวนกว่า 100 ครอบครัว จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการไหลเวียนและการขึ้นลงของกระแสน้ำที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
โครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำพุมดวง ใช้งบประมาณการก่อสร้างเกือบ 500 ล้านบาท ซึ่งเครือข่ายคนรักพุมดวงตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าวมีช่องว่างในหลายด้าน โดยเห็นว่าขณะอนุมัติโครงการยังไม่ปรากฎแบบแปลนว่า มีการสร้างเขื่อนกันแม่น้ำ การศึกษาผลกระทบยังไม่รอบด้าน ขาดการทำประชาพิจารณ์ซึ่งครอบคลุมประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริง จึงเสนอให้หยุดโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำพุมดวงในทันที พร้อมเรียกร้องให้ทางผู้บริหาร อบจ.สุราษฎร์ธานี ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเข้ามาเป็นตัวกลางแก้ปัญหาให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน
นายไพโรจน์ ฤกษ์ดี ทนายความมนุษยชนและเครือข่ายรักพุมดวง เปิดเผยรายงานการวิจัยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นกรณีศึกษาในพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี โดยพบว่าปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งมากที่สุดอันดับแรกคือ ด้านคุณลักษณะของผู้สมัคร รองลงมาคือด้านการรณรงค์หาเสียง ด้านพรรคการเมือง และด้านนโยบายอยู่ในอันดับเกือบจะรั้งท้าย ซึ่งนักวิชาการระบุว่าผลการวิจัยที่ออกมากำลังบ่งชี้ว่าประชาชนอาจให้ความสำคัญต่อนโยบายค่อนข้างน้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่
นายณัฐดนัย พยัฆพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง ม.ราชภัฎสุราษฎร์ธานี ตั้งข้อสังเกตว่า อบจ.ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ยังไม่เป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง และเป็นหน่วยการปกครอง ซึ่งยังซ้ำซ้อนกับการทำหน้าที่ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น และที่สำคัญโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อาทิ โครงการกั้นแม่น้ำพุมดวง ซึ่งใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท และส่งกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนในพื้นที่หลายด้าน ยังเป็นการดำเนินนโยบายโดยรัฐส่วนกลาง ทั้งที่ในความเป็นจริงควรกระจายอำนาจให้ อบจ.หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพราะมีความใกล้ชิดประชาชนผู้มีส่วนได้เสียมากกว่า