ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา หรือ "ซีเอเอส" พิจารณาการยื่นอุทธรณ์โทษของ รัสเซีย หลังถูกองค์การต่อต้านสารกระตุ้นโลก หรือ "วาด้า" สั่งแบนนักกีฬาจากรัสเซีย ห้ามทำการแข่งขันรายการระดับนานาชาติ เป็นเวลา 4 ปี จากกรณีที่หน่วยงานต่อต้านการใช้สารกระตุ้น รัสเซีย มีเจตนาปกปิดบังข้อมูลการใช้ยาของนักกีฬาตัวเอง และไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ
ซึ่งล่าสุด "ซีเอเอส" ประกาศลดบทลงโทษแบนจาก 4 ปี เหลือแค่ 2 ปี สิ้นสุดในวันที่ 16 ธันวาคม ปี 2022 ซึ่งนักกีฬาจาก รัสเซีย จะยังมีสิทธิ์ทำการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ โตเกียว , โอลิมปิกฤดูหนาว ในปี 2022 ที่ปักกิ่ง แต่ต้องลงแข่งในฐานะนักกีฬาจากชาติอิสระ ห้ามแสดงธงชาติรัสเซียหรือบรรเลงเพลงชาติรัสเซียในช่วงรับเหรียญ แต่สามารถสวมชุดที่มีสีแดง , ขาว , น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีของธงชาติรัสเซียได้ รวมถึงต้องแสดงหลักฐานผลการตรวจสารกระตุ้นของตัวเองจากแหล่งที่ได้รับการยอมรับ
นอกจากนี้ รัสเซีย ยังถูกสั่งห้ามจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ หรือเสนอตัวเพื่อขอรับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพไปจนถึงเดือน ธันวาคม ปี 2022 แต่รายการดังกล่าวไม่กระทบกับการแข่งขันฟุตบอลยูโร ที่เมือง เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นเจ้าภาพร่วมในปีหน้า รวมถึงการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ปี 2022 เนื่องจากรายการดังกล่าวนับเป็นการแข่งขันระดับทวีปไม่ใช่รายการนานาชาติ อีกทั้ง รัสเซีย ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์เพื่อขอลดบทลงโทษลงจากเดิมได้อีก
หลังทราบผลการพิจารณาคดี สตานิสลาฟ พอซด์เนียคอฟ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของ รัสเซีย ประกาศชัยชนะ แต่ยังแสดงความไม่พอใจคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ รัสเซีย ซึ่งรวมไปถึง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดี เข้าชมการแข่งขัน โดยเชื่อว่ามาจากปัญหาการเมืองมากกว่าเรื่องกีฬา
ขณะที่นาย วิโทลด์ บานก้า ประธาน "วาด้า" ชี้ว่า วาด้า ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการสืบสวนอย่างเต็มที่แล้ว และเคารพการตัดสินใจของ "ซีเอเอส"
ส่วนทางด้าน ทราวิส ไทการ์ท บอร์ดบริหารระดับสูงของ หน่วยงานต่อต้านการใช้สารกระตุ้นของ สหรัฐอเมริกา ชี้ว่าคำตัดสินของ ซีเอเอส ถือเป็นความพ่ายแพ้ของ วาด้า , ระบบตรวจสอบการใช้สารกระตุ้น และนักกีฬาคนอื่นๆ ที่ตั้งใจฝึกซ้อม