วันนี้ (12 ม.ค.2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่เกิดขึ้นมาได้ประมาณ 3 สัปดาห์ (ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2563 ) จนถึงวันนี้ ณ ปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อแม้จะยังสูง คือ 200-300 คนต่อวัน แต่เป็นการเพิ่มที่ค่อนข้างคงที่ ไม่ได้สูงขึ้นต่อเนื่องทุกวัน อย่างที่วิตกในตอนแรก และผู้ติดเชื้อระลอกใหม่นี้ ใช้เวลารักษาหายเร็วขึ้นมาก ในรอบ 4 วันที่ผ่านมา รักษาผู้ป่วยหายรวมกันเกือบ 1,500 คน
ย้ำไทยพร้อมรับมือ COVID-19
การระบาดรอบใหม่นี้ ไทยความพร้อมมากกว่าเมื่อปีที่แล้วมาก ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ ป้องกัน โรงพยาบาล บุคลากร ความรู้ความเข้าใจในการป้องกัน ที่สำคัญมากคือ ความร่วมมือความรับผิดชอบของประชาชน ช่วยกันจำกัดการแพร่ระบาด
อย่างไรก็ตาม การที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 หลักต่อวัน การตรวจหาเชื้อเชิงรุกยังพบผู้ติดเชื้อมากบ้างน้อยบ้างในแต่ละวัน สะท้อนว่า แม้จะควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ในเบื้องต้น แต่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทำให้ลดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศให้ลดลงมาเหลือสองหลัก หลักเดียว จนควบคุมได้ในที่สุด
มั่นใจว่า เราจะทำได้แน่นอน เหมือนที่เราเคยทำได้มาแล้ว
ส่วนประเด็นวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) เร่งรัดกระบวนการขึ้นทะเบียนวัคซีน เมื่อวัคซีนมาถึงแล้ว ฉีดให้ประชาชนได้ทันที โดยเฉพาะวัคซีนของแอสตร้า ซีเนก้า ที่ประเทศไทยได้รับสิทธิให้เป็นผู้ผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำแผนการฉีดวัคซีนไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลที่ใช้กันอยู่ คือ เรียงตามลำดับความเสี่ยง กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงวัย ผู้มีโรคประจำตัว คนที่พื้นที่ที่มีการระบาดสูงจะได้รับก่อน
คาดสิ้นเดือน ม.ค. ออกมาตรการเยียวยา ปชช.
การระบาดระลอกใหม่ แม้จะไม่มีการปิดสถานที่ต่าง ๆ เป็นวงกว้าง ไม่มีการจำกัดการเดินทาง การออกนอกเคหสถาน เป็นวงกว้าง เหมือนการระบาดเมื่อต้นปีก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนยังดำเนินต่อไปได้ ยอดค่าใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่งยังอยู่ในระดับเดียวกับก่อนการระบาด แต่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงที่มีการควบคุมระดับสูงสุด ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการ และพนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งรัฐบาลกำลังประเมินสถานการณ์การระบาด เพื่อกำหนดมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะในเรื่องการช่วยเหลือเงินเยียวยาค่าครองชีพของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการะบาดรอบนี้ คาดว่าภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้จะมีความชัดเจนและมีมาตรการออกมาได้
ในระหว่างนี้ มาตรการดูแลเศรษฐกิจที่ออกมาก่อนหน้ายังคงมีอยู่ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการเร่งด่วน
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติอนุมัติมาตรการบรรเทาผลกระทบในระยะเร่งด่วน ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ
- มาตรการเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระหนี้สินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน
- มาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงาน การลดหย่อนเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์การว่างงาน ฯลฯ
- มาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน โดยการลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน ก.พ. - มี.ค.2564 ไฟบ้านหากไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ใช้ฟรี 90 หน่วย หากเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดตามเงื่อนไข ส่วนกิจการขนาดเล็ก ให้ใช้ฟรี 50 หน่วยแรก, ค่าน้ำประปา ลดร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ตามใบแจ้งหนี้เดือน ก.พ. - มี.ค.2564 และค่าอินเทอร์เน็ต เพิ่มความเร็วและแรงของอินเทอร์เน็ตบ้าน มือถือ และลดค่าใช้จ่ายผู้ใช้บริการ สนับสนุนการทำงานที่บ้าน (Work From Home) และโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ฟรี ไม่คิดดาต้าเป็นเวลา 3 เดือน
ยืนยันงบฯ เพียงพอเยียวยา-ฟื้นฟู
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการดูแลเศรษฐกิจในรอบการระบาดใหม่นี้ เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา ฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด COVID-19 โดยใช้ไป 5 แสนกว่าล้านบาท ยังเหลือประมาณ 4 .9 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีงบกลางของงบประมาณ ปี 2564 อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งใช้ในกรณีฉุกเฉินและเร่งด่วน รวมกันแล้ว 6 แสนล้านบาท
เรื่องเงินเราไม่มีปัญหา จะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และทันการณ์นั่นคือสิ่งสำคัญกว่า
ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า รับมือ COVID-19 ได้ รอบแรกนั้นเราไม่มีประสบการณ์ความรู้ แต่ก็รับมือได้จนเป็นต้นแบบของโลกมาแล้ว ครั้งนี้ด้วยประสบการณ์ ประกอบกับความเชี่ยวชาญของทีมสาธารณสุข และที่สำคัญที่สุดคือ เราทุกคนต้องร่วมมือกัน จะผ่านมันไปได้อีกครั้งเหมือนที่เราร่วมมือกันทำสำเร็จมาแล้ว