โครงการ "เราชนะ" รัฐบาลประเมินว่าจะช่วยเยียวยาประชาชนช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. เป็นเวลา 2 เดือน ครอบคลุมประมาณ 31.1 ล้านคนภายใต้กรอบวงเงิน 2.1 แสนล้านบาท มาจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท คนที่จะเข้าข่ายตามมาตรการมี 3 กลุ่มใหญ่ ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มที่คัดกรองจากแอปพลิเคชันเป๋าตัง และกลุ่มที่สมัครใหม่
เบื้องต้น เงื่อนไขคือ มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ไม่ใช่ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ ที่อยู่ในหน่วยงานรัฐได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานรัฐโดยตรง ไม่ใช่ข้าราชการการเมืองไม่ใช่ผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ไม่ใช่มีเงินได้เกิน 300,000 บาท ในปีภาษี 2562 และบัญชีเงินฝากทุกบัญชีทุกธนาคารวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
กลุ่มแรกผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน จะได้อัตโนมัติ วงเงินซื้อของเดิม 200 - 300 บาทต่อเดือน ยังคงอยู่ วงเงินเพิ่ม 500 บาท จำนวน 3 เดือนได้เหมือนเดิม ที่เพิ่มมาคือวงเงิน "เราชนะ" มาเติมให้ครบ 7,000 บาท ดังนั้นเติมเข้ามาคนละ 5,400 บาท และ 5,600 บาท เงินทั้งหมดจะทยอยจ่ายเงินเข้าจนครบใช้เวลา 8 รอบ 8 สัปดาห์ นี่คือกลุ่มที่เงินเข้าให้เลย
กลุ่มที่ต้องตรวจสอบ กับกลุ่มต้องลงทะเบียนใหม่ กลุ่มที่ต้องเช็ก คือ กลุ่มที่เข้าโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน อยู่เดิม รวมประมาณ 14 ล้านคน ไม่ได้ให้ทั้งหมด แต่กลุ่มนี้ข้อมูลส่วนตัวจะถูกนำไปคัดกรองตามเกณฑ์ที่ลิสต์ไว้ ว่าเข้าข่ายหรือไม่ หากมีเงินฝากเงินหรือมีรายได้เยอะ หรือเป็นข้าราชการก็จะไม่ได้รับสิทธิ์
ขณะที่ผู้สมัครใหม่อย่าง "คนละครึ่ง" จำนวน 1.34 ล้านสิทธิวันนี้ ต้องรีบยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ภายในวันที่ 27 ม.ค.นี้ จะถูกดึงไปคัดกรองด้วย หากอยู่ในกลุ่มนี้ ไม่ต้องลงทะเบียนเพิ่มเติม แต่จะได้รับสิทธิ์ "เราชนะ" หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ในวันที่ 5 ก.พ.ในเว็บไซต์เราชนะดอทคอม แต่หากไม่อยู่ในฐานข้อมูลใดเลย ไม่เคยร่วมโครงการใด ๆ เลย คิดว่ามีคุณสมบัติ จะต้องไปลงทะเบียนเว็บไซต์เราชนะในวันที่ 29 ม.ค.นี้ จากนั้นวันที่ 8 ก.พ.จะต้องไปตรวสอบสิทธิ์ หากผ่านเกณฑ์จะได้วงเงินครั้งแรกในวันที่ 18 ก.พ.จำนวน 2,000 บาท จากนั้นจะมีวงเงินเข้าเป๋าตังค์ สัปดาห์ละ 1,000 บาทจนครบ 7,000 บาท
ขณะที่วิธีใช้งาน "เราชนะ" ผู้ถือบัตรบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเงินวงเงิน 700 - 800 บาทเดิม จะใช้ได้เฉพาะกับร้านธงฟ้า ร้านชุมชน ที่เคยใช้ รูดกับเครื่อง EDC แต่วงเงินที่เติมเข้าไปให้จะสามารถใช้กับร้านอื่น ๆ ได้ รวมถึงร้านค้าในโครงการจะมีแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" ที่จะสแกนหน้าบัตรสวัสดิการได้เลย ส่วนผู้ได้สิทธิ์ที่ไม่ใช่กลุ่มบัตรสวัสดิการ ใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" เช่นเดียวกับ "คนละครึ่ง" แต่จะมีแบนเนอร์ "เราชนะ" เพิ่มขึ้นมา ให้เลือกแล้วสแกนจ่าย
ทั้งนี้วงเงินที่เข้ามาจนถึงเดือน มี.ค. แต่สามารถใช้จ่ายได้ถึง พ.ค. และ "เราชนะ" จะขยายประเภทกิจการใช้วงเงินได้กว้างขวางกว่า "คนละครึ่ง" นอกจากร้านค้าที่ร่วม "คนละครึ่ง" ที่มีสิทธิ์มาร่วม "เราชนะ" ได้แล้ว ยังให้ใช้ร้านบริการ เช่น ตัดผม นวด ได้ด้วย รถโดยสาร อย่างแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์วิน สามล้อ ได้หมด รถสาธารณะ รถเมล์ รถร่วม รถไฟฟ้า ก็ได้ แต่ต้องไปออกแบบวิธีการใช้อีกครั้ง เพราะเป็นข้อเสนอที่เพิ่มเข้ามาในที่ประชุม ครม.เมื่อวาน แต่ข้อกังขาที่มีไม่น้อยตั้งแต่เมื่อวาน คือ ความคาดหวังว่าอยากได้เงินสด เหมือนเราไม่ทิ้งกัน ไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ไปจับจ่ายที่สะดวก ไม่ใช่วงเงินและบังคับใช้เฉพาะส่วนที่ร่วมโครงการ แต่รัฐบาลให้เหตุผลแบบนี้
การให้วงเงินไม่ตรงกับความต้องการของผู้ที่อยากได้เงินสดมากกว่า เพราะเดือดร้อนมาระยะหนึ่งแล้ว ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของความไม่พอใจ ขณะที่การคัดกรองด้วย เนกาทีฟลิสต์ น่าจะช่วยแก้ปัญหาความทับซ้อนของรายชื่อ ความตกหล่น อย่างที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ประท้วงที่กระทรวงการคลังในการเยียวยารอบก่อน ที่บางคนชื่อไปอยู่กลุ่มเกษตรกรทำให้พลาดสิทธิ์ฝั่งของอาชีพอิสระ
ขณะเดียวกันตัดผู้ที่มีเงินฝากมาก มีรายได้สูงออกไป แม้แต่เกษตรกรรายใหญ่ร่ำรวยก็ถูกตัด แต่ในสายตาฝ่ายวิชาการ อย่างนาย นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)มองในอีกมุม ว่าผู้ที่ควรได้อาจได้ แต่คนไม่ควรได้กลับได้ เช่น คนที่ไม่อยู่ในระบบภาษี เลี่ยงภาษี อยู่นอกระบบก็จะไม่มีข้อมูลฐานรายได้ อาจสมัครได้ หรือ มาตรา 33 จำนวนมากที่ถูกลดเงินเดือน หรือทำงานแบบไม่รับเงินเดือนก็ไม่มีโอกาสได้ แม้แต่วัยแรงงานที่อายุมาก ตกงาน เพียงแต่ประพฤติดี ออมสูง ก็ไม่ได้เข้าข่ายได้รับเช่นกัน
ความไม่ทั่วถึง ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ อาจทำให้เกิดกระแสไม่พอใจขึ้นมา กระบวนการอุทธรณ์ที่จะมารองรับ และเก็บตกกลุ่มที่เข้าไม่ถึงจึงสำคัญและโครงการ "เราชนะ" จะเกิดขึ้นได้ ถ้า "เราไม่ทิ้งกัน"