ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผู้นำสหรัฐฯ ขู่คว่ำบาตรตอบโต้กองทัพเมียนมา

ต่างประเทศ
2 ก.พ. 64
11:40
386
Logo Thai PBS
ผู้นำสหรัฐฯ ขู่คว่ำบาตรตอบโต้กองทัพเมียนมา
"โจ ไบเดน" ขู่ใช้มาตรการคว่ำบาตรเมียนมา ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ระหว่างหารือว่าจะเรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาว่าเป็นการก่อรัฐประหารหรือไม่

วันนี้ (2 ก.พ.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โฆษกทำเนียบขาวออกมาย้ำจุดยืนของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ระบุในแถลงการณ์ว่า สหรัฐอเมริกาจะพิจารณาดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมา หลังการยึดอำนาจของกองทัพ ซึ่งถือเป็นการโจมตีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมของประเทศ

นอกจากนี้ โฆษกทำเนียบขาวยังยืนยันด้วยว่า แถลงการณ์ของผู้นำสหรัฐฯ เป็นการส่งสัญญาณถึงทุกประเทศ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่จีนเท่านั้น โดยประเทศต่างๆ จะต้องยืนหยัดอยู่เคียงข้างชาวเมียนมาในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

เบื้องต้น มีการคาดการณ์ว่า สหรัฐฯ อาจจะออกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้ โดยก่อนหน้านี้ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ จากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

สหรัฐฯ หารือเรียก "รัฐประหาร" ได้หรือไม่

ขณะที่สื่ออเมริกัน รายงานอ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ว่า รัฐบาลไบเดนอยู่ระหว่างหารือภายใน เกี่ยวกับการใช้คำเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ว่าควรจะเรียกว่าการก่อรัฐประหารหรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลใช้คำว่าการยึดอำนาจมาโดยตลอด

การเปลี่ยนแปลงคำเรียกดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในการให้ความช่วยเหลือกับรัฐบาลเมียนมา และอาจรวมถึงในประเด็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย

รัฐประหารเมียนมากระทบลงทุนสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์จากศูนย์นานาชาติวูดโรว์ วิลสัน เพื่อนักวิชาการในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมาจะทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรเมียนมาไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.2562 จากปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา ที่ทำให้เมียนมาไม่ใช่ประเทศที่น่าสนใจในการลงทุน สำหรับบริษัทจากชาติตะวันตก เมื่อเทียบกับประเทศจีน

สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า จากศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติในสหรัฐฯ ที่มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาอาจทำให้บริษัทของสหรัฐฯ ถอนการลงทุนออกจากเมียนมา เนื่องจากรัฐบาลของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิมนุษยชนมากกว่ารัฐบาลชุดก่อน

สำหรับสินค้าของสหรัฐฯ ที่ผลิตในเมียนมา ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า รองลงมาคือ กระเป๋าเดินทาง ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างเมียนมากับสหรัฐฯ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 มีประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าเล็กน้อย

UNSC เตรียมประชุมฉุกเฉินถกประเด็นเมียนมา

ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เตรียมจัดการประชุมฉุกเฉินผ่านระบบทางไกล เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา โดยหัวหน้าคณะผู้แทนถาวรอังกฤษประจำองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นประธาน UNSC ในเดือนนี้ ระบุว่า ที่ประชุมจะพิจารณามาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม

ด้านธนาคารโลกแสดงความกังวลต่อการก่อรัฐประหารในเมียนมา พร้อมทั้งเตือนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อโอกาสในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังแสดงจุดยืนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และการสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ของชาวเมียนมาทั้งประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"กองทัพเมียนมา" รัฐประหาร ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี

ประชาคมโลกประณามกองทัพเมียนมาก่อ "รัฐประหาร"

สหรัฐฯ เตือนตอบโต้กองทัพเมียนมายึดอำนาจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง