วันนี้ (2 มี.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว โดยนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย และ คณะผู้จัดทำแผน ได้ชี้แจงรายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีใจความสำคัญ คือ การบินไทยจะลดต้นทุนในทุกส่วนของธุรกิจให้มากขึ้น รวมถึงปรับการทำงานขององค์กร ออกมาเป็น 9 แกนหลักในการยกเครื่ององค์กร
ยกตัวอย่าง เช่น ค่าบุคลากรที่สูงถึงปีละ 30,000 ล้านบาท ต้องเหลือไม่เกินปีละ 12,000 ล้านบาท หรือลดพนักงานกว่าร้อยละ 50 ใน 2 ปี ให้เหลือ 13,000-15,000 คน ลดเส้นทางการบินที่ไม่มีกำไร บริการลูกค้ากลุ่มพิเศษ ลดประเภทเครื่องบินจาก 12 แบบเหลือ 5 แบบ จำนวน 86 ลำ เพื่อตัดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา คาดว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 คลี่คลายลง การบินไทยจะเน้นไปที่เส้นทางบินที่มีกำไรก่อน เพื่อให้กลับมามีรายได้ในปี 2568 พร้อมยืนยันว่าไม่มีการซื้อเครื่องบินใหม่
สำหรับมูลหนี้ของการบินไทยทั้งหมดอยู่ที่ราว 410,000 ล้านบาท เป็นมูลหนี้จริงประมาณ 170,000 ล้านบาท ยืนยันว่า ไม่มีการปรับลดมูลหนี้จากเจ้าหนี้ทุกราย แต่จะจ่ายเฉพาะเงินต้น รวมถึงไม่จ่ายหนี้ใน 3 ปีแรก นอกจากนี้จะขอเพิ่มทุน 50,000 ล้านบาท ภายใน 2 ปี เพื่อให้มีต้นทุนมาหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งระบุไว้ในแผนการฟื้นฟูด้วย
ส่วนกระแสข่าวยุบสายการบินไทยสมายล์ ยืนยันว่า ยังคงดำเนินธุรกิจและถือหุ้น 100% แต่ทุกธุรกิจในเครือจะต้องปรับตัวเลี้ยงธุรกิจในส่วนของตัวเองให้อยู่รอด
นายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี บริษัทการบินไทย ยอมรับว่า การหาผู้ร่วมทุนทำได้ลำบาก ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือ ซึ่งมีเวลาประมาณ 2 เดือน คาดว่าจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน
ขณะที่นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า กระทรวงการคลังยังไม่ได้รับรายงานแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย แต่เบื้องต้นกระทรวงการคลัง โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ไม่สามารถลดมูลค่าหนี้คงค้าง หรือแฮร์คัทให้กับการบินไทย เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ แต่อาจพิจารณายืดระยะเวลาชำระหนี้ หรือค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ในช่วงรอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 จึงขอเวลาพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ก่อน ว่าจะตัดสินใจเพิ่มทุนให้บริษัทการบินไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 35,000 ล้านบาท - 50,000 ล้านบาทหรือไม่ แต่อาจไม่สามารถเพิ่มทุนในจำนวนดังกล่าวได้ทั้งหมด
สอดคล้องกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาแผนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทยอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะ แนวทางการพลิกฟื้นกิจการให้หลุดพ้นจากการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย ก่อนตัดสินใจว่าจะเพิ่มทุนหรือไม่ หลังรัฐบาลเพิ่มทุนช่วยการบินไทยมาหลายครั้งแล้ว แต่ยังประสบปัญหาการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง
สำหรับสถานะการเงินของการบินไทย พบว่า ในปี 2563 ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากกว่าแสนล้านบาท โดยปี 2562 ขาดทุน 12,000 ล้านบาท แต่ปี 2563 ขาดทุน 140,000 ล้านบาท สวนทางกับรายได้ โดยปี 2563 มีรายได้ 48,000 ล้านบาท แต่ปี 2562 รายได้สูงกว่า 135,000 ล้านบาท
รายได้ของการบินไทยที่หายไปในปี 2563 มาจากรายได้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ที่ลดลง 125,000 ล้านบาท และรายได้การบริการอื่น ๆ ลดลง 7,500 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมของการบินไทย ปี 2563 ต่ำกว่า ปี 2562 แต่ค่าใช้จ่ายที่ยังอยู่ในระดับสูง ทําให้การลดลงของค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป
ทั้งนี้ เมื่อกรมบังคับคดีรับแผนฟื้นฟูกิจการไว้แล้ว หลังจากนี้ได้กำหนดนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 12 พ.ค.2564 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งการทำกระบวนการตามแผนฟื้นฟูฯ ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าหน้าหนี้มากกว่าร้อยละ 50