ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สัตวแพทย์เร่งช่วยช้างกินพาราควอต ถึงลำปางแล้ว 3 เชือก

สิ่งแวดล้อม
5 มี.ค. 64
15:31
1,673
Logo Thai PBS
สัตวแพทย์เร่งช่วยช้างกินพาราควอต ถึงลำปางแล้ว 3 เชือก
ทีมสัตวแพทย์โรงพยาบาลช้าง จ.ลำปาง เร่งช่วยเหลือเคสช้างกินยาฆ่าหญ้าพาราควอตใน จ.เชียงใหม่ เคลื่อนย้ายถึง รพ.แล้ว 3 เชือก พบอาการหนัก 1 เชือก อีก 2 เชือกยังไม่แสดงอาการรุนแรง เบื้องต้นเจาะเลือดประเมินการทำงานตับ-ไต ให้สารน้ำทดแทนและยาลดอักเสบ

ความคืบหน้ากรณีสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ใช้รถบรรทุก 10 ล้อเคลื่อนย้ายช้างจาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ไปที่โรงพยาบาลช้าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง หลังช้าง 7 เชือก กินหญ้าฆ่าหญ้าจนเกิดแผลไหม้ในปากและลิ้น เหตุเกิดบริเวณชายป่ารอยต่อระหว่างบ้านแม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ซึ่งทีมสัตวแพทย์เดินทางไปช่วยเหลือและให้การรักษาเบื้องต้น ก่อนส่งช้าง 5 เชือกที่พบแผลในปาก ไปรักษาอย่างเร่งด่วน

 

วันนี้ (5 มี.ค.2564)  น.สพ.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้เคลื่อนย้ายช้าง 3 เชือก ถึงโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ในจำนวนนี้เป็นช้างแม่ลูก ส่วนอีก 2 เชือก คาดว่าจะมาถึงในเวลา 20.00 น.

ภาพ : ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า

ภาพ : ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า

ภาพ : ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า

 

สำหรับอาการของช้างที่กินยาฆ่าหญ้าเข้าไป ลักษณะอาการมีฟองในปาก ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่กินเข้าไป เศษเยื่อเมือกลอกหลุด หากสารเคมีเข้าไปถึงในช่องท้องจะมีอาการปวดเกร็ง

ทั้งนี้ ช้างแม่ลูกพังคำมูลและพลายวิลเลี่ยม ทั้ง 2 เชือกมีแผลในช่องปาก โดยลูกช้างมีแผลขนาดใหญ่ที่ลิ้นและเพดานปาก มีอาการซึมเล็กน้อย แต่ยังกินน้ำและอาหารได้

ส่วนพังโมพอนะ มีแผลในช่องปาก มีอาการซึม ไม่กินอาหาร แต่หลังจากได้รับการรักษา ขณะนี้ช้างเริ่มกินน้ำและอาหารอ่อน เช่น กล้วยสุก ได้แล้ว

 

สัตวแพทย์ได้เจาะเลือดตรวจเพื่อประเมินการทำงานของร่างกายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตับและไต เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์กัดกร่อน ทำให้เกิดภาวะตับวาย ไตวาย และระบบหายใจล้มเหลวได้

 

ภาพ : ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า

ภาพ : ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า

ภาพ : ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า

 

น.สพ. ทวีโภค กล่าวถึงการรักษาช้าง ว่า ต้องประคองการทำงานของตับและไตให้ได้อยู่ระดับหนึ่ง ประกอบกับลดพิษ ขณะนี้ให้สารแอนติออกซิแดนซ์ ยากดภูมิคุ้มกัน ลดการทำงานของภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้สารน้ำทดแทน และให้ยาลดอักเสบ โดยมีนักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมสหพันธ์ช้างไทยร่วมดูแล รวมทั้งกลุ่มแพทย์ทั่วประเทศส่งเวชภัณฑ์กรณีที่ขาดแคลน เช่น สารน้ำในการปรับกรด เบส

จากปากของช้าง ไม่รู้แผลไปถึงตรงไหนบ้าง ต้องให้ยาลดอักเสบ อาการของช้างแม่และลูกกินอาหารได้ แต่อาการหนัก 1 เชือก

 

ภาพ : ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า

ภาพ : ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า

ภาพ : ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า

 

ทั้งนี้ ประเมินจากขวดที่เก็บได้และอาการของช้าง คาดว่าได้รับสารพาราควอต โดยต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดช่วง 2-4 สัปดาห์ ตั้งแต่เรื่องการกิน การทำงานตับและไต หลังจากนั้น 1 เดือน ต้องประเมินการหายใจ เพราะกรณีช้างกินพาราควอตเข้าไป สารจะค่อย ๆ ออกกฤทธิ์ ซึ่งกังวลเกี่ยวกับพังผืดอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง