วันนี้ (8 มี.ค.2564) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “หยุดฉากข่มขืนผ่านจอ หยุดผลิตซ้ำความรุนแรงในสังคมไทย” พร้อมทั้งร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “เสียงจากใจที่ปวดร้าว” เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค.
นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ระบุว่า กระแสที่มีการนำเสนอฉากละครที่ไม่เหมาะสม ทั้งเนื้อหาและภาพที่มีการคุกคามทางเพศนั้น กรมกิจการสตรีฯ ได้เชิญคณะอนุกรรมการมาประชุมเพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยตั้งคณะทำงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสื่อทุกประเภท ที่นำเสนอในเรื่องการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศไม่เหมาะสม กำหนดแนวทางเฝ้าระวัง เพื่อส่งเสริมทัศนคติที่ถูกต้อง พร้อมกันนี้จะทำ MOU หรือบันทึกความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กสทช. ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อตามกฎหมาย
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศ คุ้มครองพิทักษ์สิทธิสตรี สร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว รับเรื่องร้องเรียนเพื่อเป็นกลไกความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคประชาชนมีอิทธิพลสูง ควรช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังไม่สนับสนุนละคร โฆษณา หรือข่าวต่างๆ แม้กระทั่งสื่อออนไลน์ที่มีการละเมิดสิทธิและคุกคามทางเพศ จะทำให้สื่อเหล่านั้นตระหนักมากขึ้น ว่าสังคมไม่ยอมรับ
หากเรายังเพิกเฉยการผลิตซ้ำก็จะเกิดขึ้นอีก และทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมตระหนักส่งเสริมสื่อดีๆ และสร้างสรรค์ต่อสังคม
14 ปี ละครไทยผลิตซ้ำฉากข่มขืนฉายช่วงไพรม์ไทม์
น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาละคร และรายการทีวีที่ไม่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยวิธีการสุ่มเก็บข้อมูลจากช่องต่างๆ ที่ออกอากาศตั้งแต่ ปี 2550-2564 ปัญหาพบว่า ละครที่ออกอากาศในช่วงเวลา 20.30 น. และหลายเรื่องมีการรีรัน เนื้อหาละครส่วนใหญ่ใช้การข่มขืน สร้างความโรแมนติกให้พระเอกนางเอกและจบแบบ Happy Ending ทั้งที่ความเป็นจริง เคสที่ถูกข่มขืนพบว่า ส่วนใหญ่ถูกกระทำจากคนใกล้ชิด ไม่มีเคสไหนที่จบแบบ Happy Ending
เนื้อหาละครใช้การข่มขืนสร้างความสะใจ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับนางร้ายตัวอิจฉา ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ควรมีใครถูกข่มขืน และการข่มขืนไม่ใช่วิธีการลงโทษ แต่เป็นอาชญากรรมทำลายความเป็นมนุษย์
ส่วนเนื้อหาละคร รายการทีวีใช้การคุกคามทางเพศสร้างความตลกเฮฮา ทั้งรายการทอร์คโชว์และรายการเกมส์โชว์มักเล่นมุกตลกลักษณะคุกคามทางเพศผู้ร่วมรายการหรือแขกรับเชิญผู้หญิง ทำให้ปัญหาการคุกคามทางเพศกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย และเป็นเรื่องปกติ แต่ผู้เสียหายจะรู้สึกอึดอัดไม่ปลอดภัย
ขณะที่การผลิตซ้ำเป็นมายาคติผิด ๆ สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการข่มขืน ทำให้สังคมมองเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งเนื้อหาของละครมีการโทษผู้เสียหายคือโทษฝ่ายหญิงด้วยการทับถมคำพูดรุนแรง และมีการตั้งคำถามกับผู้ที่ถูกข่มขืน เป็นการตีตราว่ามีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น ๆ ทัศนคติแบบนี้จะทำให้ผู้ถูกข่มขืนส่วนใหญ่ไม่แจ้งความดำเนินคดี
ข้อมูลจากการให้คำปรึกษาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กรณีปัญหาความรุนแรงทางเพศ มีจำนวน 36 กรณี แต่กลับแจ้งความดำเนินคดีเพียง 14 กรณี นอกนั้นเลือกที่จะไม่ดำเนินการ หรือใช้วิธีเจรจาไกล่เกลี่ย ย้ายที่อยู่
การข่มขืน คือ อาชญากรรม เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ละครไม่ควรสนับสนุนและไม่ควรตอกย้ำให้ยอมรับคุ้นชินกับการข่มขืนผ่านพระเอก-นางเอก-นางร้าย นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาไม่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอีกหลายประเด็น
กสทช.รับเรื่องร้องเรียน ละคร 7 เรื่อง สั่งตัดฉากรุนแรง
พ.อ.เสริมพงษ์ จารุเลิศวุฒิ อนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. ชี้ว่า เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจเขามาใส่ใจแล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่กระทบจิตใจ เราไม่รู้ว่าแต่ละคนอดทนได้แค่ไหน บางคนอาจถึงป่วยได้ เรื่องความรุนแรงเชื่อว่าไม่มีใครอยากดู เพราะอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้
กสทช.ได้จัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ โดยการกำหนดอายุผู้รับชม ในหลายครั้งที่มีข้อร้องเรียนเข้ามา ต้องดูว่ารายการเหล่านั้นเนื้อหาเป็นจริงตามที่ร้องเรียนอย่างไร จากนั้นปรับเวลาการออกอากาศให้เหมาะสมหรือพิจารณาบทลงโทษตามกฎหมาย โดยนอกจากมีผู้ร้องเรียนเข้ามา กสทช.เองสามารถดูและดำเนินการได้ ล่าสุด การดำเนินการละครเรื่อง เมียจำเป็น หลังมีการร้องเรียนเข้ามา เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล หลังจากนั้นได้ปรับเปลี่ยนเวลาการออกอากาศไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีละครอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่รีรันได้ตัดฉากที่มีความรุนแรงออกไปแล้ว ก่อนนำกลับมาฉายใหม่ โดยที่ผ่านมามีละครประมาณ 7 เรื่องที่ถูกร้องเรียนได้ถูกสั่งปรับเนื้อหาและเวลาออกอากาศไปแล้ว