วันนี้ (8 มี.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่ทำการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง กรณีมีการร้องเรียนกล่าวหาเกี่ยวกับการขอออกเอกสารสิทธ์บริเวณโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” อ.จะนะ จ.สงขลา ของบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ทับที่ดินทำกินของราษฎรในพื้นที่กว่า 100 ไร่ และประเด็นอื่น ๆ โดย พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะกำกับดูแล และนายมเหสักข์ พันธ์สง่า ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา
กรณีดังกล่าวประชาชนในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ได้ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีเศษ (ดีเอสไอ) ร้องเรียนว่าบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก ทับซ้อนกับที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ ซึ่งครอบครองอยู่จำนวนหลายราย และชาวบ้านได้คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าวในขั้นตอนการเดินสำรวจเพื่อรังวัดสอบเขตที่ดินแล้ว โดยให้เหตุผลว่าได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอด และบางรายถือครองต่อจากปู่มาสู่บิดาแล้วมาสู่ตนเอง บางรายถือครองตกทอดจากผู้ครอบครองเดิมด้วยการซื้อขาย และแต่ละแปลงได้ถือครองมาก่อนหลายสิบปี ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายที่ดิน
การลงพื้นที่ตรวจสอบ ปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่น่าเชื่อว่า มีการบุกรุกครอบครองที่สาธารณะและที่ป่าชายเลนในพื้นที่จำนวนกว่าพันไร่ และบางแปลงมีการออกเอกสารสิทธิทับที่ป่าชายเลน กว่า 700 ไร่ ที่มีกลุ่มนายทุนอยู่เบื้องหลังโดยที่ดินบริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ “โครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ต.ตลิ่งชัน ต.นาทับ และ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา
จากกรณีดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศพระราชบัญญัติการสอบสวนพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค จะรวบรวมข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาสั่งการให้ทำการสืบสวน ตามมาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากพบความผิดจะดำเนินคดีต่อไป