วันนี้ (11 มี.ค.64) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ว่า ในประกาศดังกล่าว กำหนดให้ รถบรรทุก น้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. รถโดยสารมีที่นั่งคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. รถลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก รถยนต์สามล้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กม./ชม. รถจักรยานยนต์ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. รถจักรยานยนต์ กำลังเครื่องยนต์ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กม./ชม. รถโรงเรียน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. รถโดยสารที่มีที่นั่งเกิน 7 คนแต่ไม่เกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็ว ไม่เกิน 100 กม./ชม. รถแทรกเตอร์ รถบดถนน หรือรถใช้งานเกษตรกรรม ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 45 กม./ชม. และรถอื่นๆ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.
ส่วนรถอื่น ๆ หากรถอยู่ในช่องเดินรถขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้นมีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น
ทั้งนี้ หากในทางเดินรถมีเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นเขตอันตราย หรือเขตให้ขับรถช้า ๆ ให้ลดความเร็วลง และเพิ่มความระมัดระวังขึ้นตามสมควร และในกรณีที่ทางเดินรถ หรือช่องเดินรถใด มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วต่ำกว่าอัตราที่กำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า แม้กฎกระทรวงประกาศออกมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลเลยทันที จะต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งตามหลักการต้องสะดวก รวดเร็ว และต้องปลอดภัย ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้บูรณาการร่วมกับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ เมื่อผู้อำนวยการทางหลวงประกาศว่า ถนนเส้นใดสามารถใช้ความเร็วได้ ซึ่งจะมีการประกาศแจ้งบนถนน ว่าจะเริ่มดำเนินการให้ใช้ความเร็วได้ตามกฎกระทรวง
เบื้องต้น จะคิกออฟในเส้นทางแรกคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง กม. ที่ 4+100-50+000 ระยะทาง 45.9 กิโลเมตร คาดว่า จะเริ่มได้ภายในเดือนนี้ และจะทยอยประกาศเพิ่มในอนาคต
ทั้งนี้ กำหนดให้ถนนจะต้องเป็น 4 ช่องจราจร มีเกาะกลางถนน และไม่มีจุดกลับรถ หรือจุดตัดเสมอเส้นทาง ซึ่งก่อนถึงการเข้าสู่เขตจำกัดความเร็ว จะมีป้ายแจ้งก่อน และจะมีการติดตั้งอุปกรณ์สั่นสะเทือน (Rumble strip) ว่าเข้าสู่เขตใช้ความเร็วเป็นพื้นสีเขียว และเมื่อวิ่งไปขอให้ประชาชนสังเกตป้าย ก่อนออกจากช่วงบังคับใช้ความเร็วจะมีการติดตั้งอุปกรณ์สั่นสะเทือนเป็นพื้นสีเหลือง และเมื่อออกจากเขตบังคับใช้จะเป็นสีแดง
รวมทั้งให้กรมทางหลวงและทางหลวงชนบทสำรวจทำสะพานลอยเพื่อให้ประชาชนเดินข้ามทั้งคน มอเตอร์ไซค์ และรถจักรยาน แต่รถยนต์ให้ใช้สะพานกลับรถ โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจเส้นทาง ถนนทั่วประเทศ เพื่อดูว่าแต่ละเส้นมีเส้นใดทางใดประกาศให้ใช้ได้ และส่งข้อมูลมาให้กระทรวงภายในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค.) ก่อนมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 15 มี.ค.นี้ เพื่อกำหนดพื้นที่ว่าจะมีถนนช่วงใดบ้างที่ให้ใช้ความเร็วได้และใช้ได้เมื่อใด
พร้อมทั้งได้สั่งการกำชับว่า ต้องทำป้ายกำหนดอัตราความเร็วแต่ละช่องจราจรเพื่อให้ประชาชนรับทราบ ส่วนงบประมาณที่จะใช้ให้หน่วยงานประสานมายังกรมการขนส่งทางบก โดยใช้เงินจากกองทุนความปลอดภัยทางถนน ซึ่งยืนยันว่ามีเพียงพอ ขณะเดียวกันการกำหนดการใช้ความเร็ว เช่น รถโรงเรียน ที่กำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ซึ่งที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับให้วิ่งได้ 120 กม./ชม. จะไม่สามารถวิ่งได้ในเลนนั้นได้ โดยจะประสานทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงการกำกับการใช้งานอีกครั้ง