วันนี้ (21 มี.ค.2564) นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงกรณีภาพเหตุการณ์ความรุนแรง ขณะที่ตำรวจใช้กระสุนยางเข้าปฏิบัติการเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองว่า ขอให้ตำรวจทบทวนการปฏิบัติการให้เป็นไปอย่างรัดกุม ทั้งการเข้าควบคุมเมื่อเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน หรือการนำกระสุนยางมาปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการสลายการชุมนุม
เช่นเดียวกันกับกลุ่มผู้ชุมนุมเอง ก็จะต้องทบทวนการจัดกิจกรรมระหว่างที่ไม่มีแกนนำ เพราะอาจจะขาดการสื่อสาร โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วควรจะต้องมีแผนรองรับเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย หรือบาดเจ็บ ขณะเดียวกัน ไม่อยากให้สถานการณ์ความรุนแรง กลายเป็นความโกรธ-เกลียด จนทำให้ขาดสติ และสุดท้ายอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น
นักวิชาการชี้ใช้ปลายกระบอกปืนไม่ช่วยแก้ปัญหา
ขณะที่ น.ส.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ นักวิชาการ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลฟังเสียงของประชาชน พร้อมถอดบทเรียนเหตุการณ์สลายการชุมนุม ก่อนเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความรุนแรงในอนาคต และย้ำการแก้ปัญหาด้วยปลายกระบอกปืน หรือซากปรักหักพัง ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่ควรใช้การพูดคุยเป็นเครื่องมือในการแสวงหาทางออก
และแม้ว่าจะเข้าใจต่อบริบทของการชุมนุมเคลื่อนไหว แต่ย้ำเตือนไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมต่อการทบทวนการนัดหมายทำกิจกรรมที่ไม่มีแกนนำ ที่จะเป็นจุดศูนย์รวมในการสื่อสารกับผู้ชุมนุมที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะการเตรียมแผนรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าขึ้นมา
"พล.อ.เอกชัย" แนะ คกก.สมานฉันท์ คุยกับผู้ชุมนุม
เช่นเดียวกัน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า แนวทางออกของปัญหาความขัดแย้งอาจจบลงด้วยการพูดคุยกัน โดยเฉพาะคณะกรรมการสมานฉันท์ อาจจะต้องแสดงบริบทมากกว่าการศึกษา และทำรายงาน โดยเฉพาะการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ชุมนุมให้มากขึ้น
มีรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อประเมินสถานการณ์ภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ที่ช่วงระยะหลังการชุมนุมมีความรุนแรงต่อเนื่อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอให้ทุกฝ่ายอดทน - ค้านความรุนแรง
ตำรวจจับ 20 คน คุมตัวสอบ บก.ตชด.ภาค 1
มวลชนถูกดักทำร้าย ได้รับบาดเจ็บ