วันนี้ (1 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เส้นทางผลิตภัณฑ์จักสานกระจูด ของ ต.เคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เริ่มต้นขึ้นบริเวณใจกลางป่าพรุควนเคร็ง
ชาวบ้านจะตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ บุกป่าพรุออกไปตัดกระจูด นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จักสานหลากหลายชนิด ความสมบูรณ์ของป่าพรุและกระจูด จึงถือเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านในพื้นที่ ต.เคร็ง อ.ชะอวด
เมื่อได้กระจูดมาแล้ว ชาวบ้านจะนำไปคลุกโคลนแล้วนำมาตากให้แห้ง ก่อนนำไปรีดให้เรียบ โดยใช้ลูกกลิ้งปูน กลิ้งทับไปทับมาหลายๆรอบ เพื่อให้กระจูดแบนเรียบ เพิ่มความสะดวกในการจักสาน เมื่อจักสานเป็นผลิตภัณ์แล้วเสร็จ ก็จะนำไปลงกาว แต่งรูปทรงให้ดูดี ก่อนจะย้อมสีให้สวยงาม
ชาวบ้านเกือบทุกครัวเรือนใน ต.เคร็ง อ.ชะอวด จะมีความสามารถในการแปรรูปกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด แต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้สินค้ากระจูด แทบขายไม่ออก เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อหาผลิตภัณฑ์ สินค้าจำนวนมากถูกตีกลับ
เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน เยาวชนใน ต.เคร็ง จึงได้หันมาทดลองขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการไลฟ์สดผ่านเว็บเพจ ซึ่งได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี ยอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว
ความเข้าใจในรายละเอียดของสินค้าเป็นอย่างดี ประกอบการนำเสนอที่น่าสนใจ สามารถสื่อสารโดยตรงกับลูกค้าได้ในทันทีระหว่างการไลฟ์สด ทำให้การเปิดขายออนไลน์ในแต่ละครั้ง สามารถปิดการขายสินค้าได้กว่า 100 ชิ้น
ในแต่ละเดือนจะมียอดจำหน่ายสินค้ามากกว่า 100,000 บาท กลายเป็นช่องทางหลักในการกระจายสินค้าจากชุมชนส่งตรงสู่มือลูกค้าในทันทีในราคาที่สามารถจับต้องได้
ชาวบ้านนับพันครัวเรือนในพื้นที่หลายตำบลรอบพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง ยึดอาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์จักสานกระจูด สร้างรายได้ปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งการจำหน่ายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แม้จะสามารถเพิ่มยอดจำหน่ายนำรายได้เข้าสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี
แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่สะท้อนปัญหาว่าได้มีผู้ไม่หวังดีลักลอบแอบอ้างทำเพจขายผลิตภัณฑ์กระจูดปลอมขึ้นมา หลอกให้ลูกค้าโอนเงินแล้วไม่ส่งสินค้า ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น จึงขอให้ลูกค้าตรวจสอบหมายเลขบัญชีผู้ขายอย่างละเอียด เพื่อป้องกันถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ