ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ที่บอกว่า...ติดโควิดรักษาฟรี (ใครจ่าย)

สังคม
20 เม.ย. 64
15:10
75,542
Logo Thai PBS
ที่บอกว่า...ติดโควิดรักษาฟรี (ใครจ่าย)

เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มากขึ้นเกินวันละ 1,500 คน

สิ่งที่เห็นตามมาคือ การเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม ของหน่วยงานต่างๆ เกือบ 20,000 เตียง การเพิ่ม Hospitel อีกหลายแห่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีระดับของอาการที่แตกต่างกัน

ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า “ถ้าตรวจโรงพยาบาลไหนและพบเชื้อ โรงพยาบาลนั้นจะต้องรับรักษาทันที”

อย่างไรก็ตามก็ยังมีการร้องเรียนให้ได้ยินหลายครั้งว่า โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ไม่ยอมรับผู้ติดเชื้อ

ต่อมาโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ยังประกาศงดรับตรวจหาเชื้อ โดยให้เหตุผลว่า “มีน้ำยาไม่เพียงพอ”

จึงมีคำถามที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกันว่า “น้ำยาตรวจไม่พอ” หรือ “ไม่อยากรับผู้ป่วยติดเชื้อไว้รักษา”

ขณะที่มีเสียงสะท้อนจากด้านโรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า ที่ผ่านมา คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือคิดว่าตัวเองจะติดเชื้อ มักเลือกมาตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน เพราะรู้ว่า ถ้าพบว่าติดเชื้อ โรงพยาบาลต้องรับตัวไว้รักษา อย่างไม่มีเงื่อนไข (ซึ่งจะสบายกว่าการนอนรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ อย่างแน่นอน)

 

 

ในช่วงแรกอาจจะเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อจำนวนผู้มารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น และพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น การรับตัวเข้ารับการรักษาจึงเป็นเรื่องยาก

โรงพยาบาลเอกชนจึงต้องส่งต่อผู้ป่วย (ตามอาการ) ไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือบ้าง โรงพยาบาลสนามบ้าง หรือ Hospitel ที่ยังมีเตียงว่างอยู่ และพร้อมรับ

จุดนี้เองที่สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ติดเชื้อว่า “โรงพยาบาลเอกชนเลือกปฏิบัติ” ทั้งที่รัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

รัฐบาลประกาศหลักเกณฑ์ “รักษาฟรี”

เรื่องนี้เคยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ช่วงแรกๆ เมื่อต้นปี 2563

เรื่อง หลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของผู้ป่วยโรคไวรัส COVID-19 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563 ให้ผู้ป่วยโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินได้รักษาพยาบาลฟรีจากทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ห้ามเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย ส่วนโรงพยาบาลเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนสุขภาพตามสิทธิรักษา

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2563 ว่า เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐ หรือเอกชนให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์ และเป็นธรรม

กระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งพัฒนาและผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในการรับบริการในด้านระบบบริการสุขภาพ

อันนำไปสู่การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))”

ซึ่งประกาศฉบับนี้ กำหนดให้สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (โรงพยาบาล) ทุกแห่ง จะต้องให้การรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 จนพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาล

 

 

และหากจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลอื่น ต้องจัดการให้มีการจัดส่งต่อตามความเหมาะสม โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ให้สถานพยาบาลดำเนินการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามแนวทางการเรียกเก็บที่ สปสช.กำหนดแทน ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

เว้นแต่ กรณีที่สถานพยาบาลจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการดูแลรักษายังเครือข่ายสถานพยาบาลที่จัดไว้ แต่ตัวผู้ป่วยหรือญาติฯ ปฏิเสธ ไม่ขอให้ส่งต่อหรือประสงค์จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง

 

สถานพยาบาลจะได้รับเงินภายใน 45 วัน

ขณะที่ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า สำหรับระยะเวลาที่สถานพยาบาล จะได้รับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 จะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน

เริ่มตั้งแต่ สปสช.ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร สรุปค่าใช้จ่าย และแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมาย

เบิกได้ทุกสิทธิ 597 รายการ

หลังจากนั้นกองทุนจะดำเนินการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขฯ ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดค่าบริการ ทั้งสิ้น 597 รายการ ให้แก่สถานพยาบาลภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยหรือญาติ พบโรงพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพฯ เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. โทร.02-193-7057 หรือ 1667

สปสช.ยืนยันรัฐจัดสรรงบฯ ให้แล้ว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกมาเปิดเผย เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2564 ว่า หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง สามารถไปรับการตรวจคัดกรอง ได้ที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทุกแห่ง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

เนื่องจากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ สปสช.ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับเป็นการตรวจคัดกรอง COVID-19 ให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่ง

ขณะที่ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ยินดีให้บริการตรวจคัดกรอง COVID-19 แก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาล

สิทธิการตรวจคัดกรอง COVID-19 เป็นสิทธิของคนไทยทุกคน ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง เท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ตลอดจนสิทธิสุขภาพอื่นๆ ด้วย

ขอย้ำว่า คนไทยทุกคนเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ฟรี และขอให้ผู้ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง รีบไปเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง คนในครอบครัว คนใกล้ชิด และจะเป็นการป้องกันการระบาดในวงกว้างอีกทางหนึ่งด้วย

เพราะอะไร “เตียงไม่พอ”

หากหันกลับมามองด้านโรงพยาบาลเอกชน ถ้าย้อนกลับไปดูจะพบว่า ในช่วงต้นที่มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 หน่วยงานที่จะตรวจได้ ต้องเป็นโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น

แต่ต่อมาโรงพยาบาลเอกชนสมัครใจที่จะตรวจเอง อย่างน้อยก็เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ กระทั่งขยายออกไปมากขึ้น

ส่วนปัญหา “เตียงไม่พอ” ในโรงพยาบาลเอกชน เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อมากขึ้น

หากดูสัดส่วนพบว่า เฉพาะในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลเอกชนมากถึง 60 เปอร์เซนต์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 20 เปอร์เซนต์ โรงพยาบาลสังกัดกองทัพ 10 เปอร์เซนต์ และโรงพยาบาลของรัฐบาล 10 เปอร์เซนต์

ด้วยเหตุผลนี้คนส่วนใหญ่ จึงเลือกที่จะเข้าไปใช้บริการของเอกชนก่อนของรัฐบาล ทั้งเพื่อความสะดวกรวดเร็ว การบริการ

เมื่อเฉพาะในกรณีนี้ ที่แม้จะเข้ารับการรักษาที่ไหน ก็ “ฟรี” เหมือนกัน การเลือกเข้าโรงพยาบาลเอกชน จึงเป็นสิ่งที่แรกที่คนจะนึกถึง นั่นคือสาเหตุที่พบว่า ทำไม “เตียงไม่พอ”

สิ่งที่ปรากฏออกมา เมื่อโรงพยาบาลเอกชนงดตรวจ โรงพยาบาลของรัฐเต็ม รัฐบาลจึงสั่งเร่งสร้าง “โรงพยาบาลสนาม” อย่างรวดเร็วในกรุงเทพฯ และแทบทุกจังหวัด เพื่อรองรับผู้ติดเช้อที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว

ขณะที่อีกมุมหนึ่ง หากเป็นต่างจังหวัด จะพบว่าไม่เกิดปัญหา “เตียงเต็ม” ในโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้น เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกที่จะเข้าไปตรวจและรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นหลัก

ทำไมโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่รับผู้ป่วย COVID-19

หลังเกิดปัญหาคนไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก ประกอบกับหลายรายขอย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน โดยเลี่ยงไม่ไปโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel แต่มักได้รับการปฏิเสธว่า “เตียงเต็ม” เพราะ

- เมื่อมีผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม การเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดคือ “ค่าใช้จ่าย” ที่จะเกิดขึ้น

ทั้งค่าชุด PPE การจัดแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สนับสนุน อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ ห้องรักษาเฉพาะทาง อย่างไอซียู ห้องพัก อาหาร ฯลฯ หรือแม้แต่ลิฟต์ ที่จะต้องแยกจากผู้ป่วยทั่วไป ทั้งหมดคือ “ค่าใช้จ่าย”จำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้น

ขณะที่การเบิกจ่ายจากรัฐที่รัฐบอกว่า “รักษาฟรี” แต่โรงพยาบาลได้รับเพียง 30 เปอร์เซนต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อราย ที่เหลือโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ และจะต้องใช้เวลาในกระบวนการเบิก จนกว่าจะได้รับเงินนานถึง 45 วัน

 

- เมื่อมีคนรู้ว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ มีผู้ป่วยติดเชื้อเข้ามารับการรักษา ทำให้ผู้ป่วยโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคติดต่อ เลี่ยงที่จะเข้ามารับการรักษา ทำให้โรงพยาบาลสูญเสียรายได้

ทั้งที่หากโรงพยาบาลรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อรายอื่น ก็สามารถรักษาได้แบบทั่วไป และไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้โรงพยาบาลจึงเลือกที่จะ “ไม่ตรวจเชื้อ” ตั้งแต่ต้น เพื่อไม่รับผู้ติดเชื้อเข้าไปรักษา

- หากสังเกตจะพบว่า ทำไมหลายคนที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะคนมีชื่อเสียงอย่าง “ดารานักแสดง” จึงเข้ารับการรักษาได้ทันที หลังรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ เพราะคนเหล่านี้ “พร้อมจ่าย” หรือมีประกันชีวิตที่ “พร้อมจ่าย” ทันที จึงไม่ต้องรอเตียง

ถึงตรงนี้ทำให้มองได้หลายมุม ในมุมทางการแพทย์ ในความเป็นมนุษย์อาจมองว่าไม่เป็นธรรม เป็นความเหลื่อมล้ำ แต่หากมองในเชิงธุรกิจการแพทย์ ก็เป็นความจริงอีกด้านเช่นกัน

แต่ทั้งหมดคือคำตอบ ที่เราอาจจะต้องตั้งคำถามว่า หากรัฐบาลมีระบบจัดการด้านสาธารณสุขที่ดี เราก็จะไม่พบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ เช่นเดียวกับอีกหลายปัญหา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง