ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทอ.-รพ.จุฬาภรณ์ เปิด รพ.สนาม ที่สนามจันทรุเบกษา

สังคม
21 เม.ย. 64
16:00
2,940
Logo Thai PBS
ทอ.-รพ.จุฬาภรณ์ เปิด รพ.สนาม ที่สนามจันทรุเบกษา
กองทัพอากาศเปิดโรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ (ดอนเมือง) ณ อาคารฝึกและทดสอบสมรรถภาพทหารอากาศ 2 (สนามกีฬาจันทรุเบกษา) พร้อมเปิดหลักเกณฑ์รองรับผู้ป่วย COVID-19 อาการไม่รุนแรง และนำ"น้องถาดหลุม" งานวิจัยหุ่นยนต์ทอ.ร่วมบริการผู้ป่วย

วันนี้ (วันที่ 21 เม.ย.2564 ) พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ (ดอนเมือง) ที่อาคารฝึกและทดสอบสมรรถภาพทหารอากาศ 2 (สนามกีฬาจันทรุเบกษา)

โดยมี พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท โกลบอล เคมิคอล เข้าร่วมพิธี

 

รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และขยายวงกว้างไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ (ดอนเมือง) ขึ้น บริเวณพื้นที่ อาคารฝึกและทดสอบสมรรถภาพทหารอากาศ 2 (สนามกีฬาจันทรุเบกษา) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความเหมาะสมสูงสุด

 

เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ และสามารถดูแลตัวเองได้ 120 เตียง โดยมีการแบ่งโซนผู้ป่วยชาย 70 เตียง และผู้ป่วยหญิง 50 เตียง โดยมีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้แต่ละเตียงเรียบร้อย ได้แก่ ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ตู้เก็บของ ถังขยะ และพัดลมส่วนตัว

 

นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง การรักษาความปลอดภัยภายในอาคารด้วยการ CCTV รอบอาคาร และเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารอากาศ ดูแลรักษาความปลอดภัยภายนอกอาคาร

พร้อมกันนี้ได้นำ "น้องถาดหลุม" หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช มาใช้ในการลำเลียงอาหาร ยา เสื้อผ้า ให้แก่ผู้ติดเชื้อเพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

 

สำหรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ ต้องผ่านการรักษาจาก รพ.ภูมิพลฯ แล้ว 3-4 วัน และมีอาการคงที่ อายุมากกว่า 18 ปี แต่น้อยกว่า 60 ปี ช่วยเหลือตัวเองได้ดี น้ำหนักตัวไม่เกิน 90 กก.ไม่มีไข้ไม่ไอไม่หอบ ไม่มีโรคประจำตัว ยกเว้นโรคความดันโลหิตสูง ที่สามารถความคุมอาการโรคได้ ไม่มีภาวะทางจิตเวช ไม่ใช้สารเสพติด และสื่อสารภาษาไทยได้ดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง