กรณีผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มสูงขึ้นหลักพันคนต่อวัน นานกว่า 1 สัปดาห์ ทำให้รถพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แทบไม่เพียงพอ บางคนต้องรอคิวรถนาน 5 วัน หรือจนกว่าผู้ป่วยจะได้เตียง ปัญหานี้กลับเป็นช่องโหว่ซ้ำเติมผู้ป่วย เมื่อพบการหักหัวคิวเก็บค่ารถพยาบาลเอกชน
ทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้รับการร้องเรียนจากผู้ป่วย COVID-19 รายหนึ่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ เธอตัดสินใจใช้บริการรถพยาบาลบริษัทเอกชน เนื่องจากโรงพยาบาลที่ไปตรวจหาเชื้อเตียงเต็ม เธอจึงพยายามหาโรงพยาบาลเพื่อรักษา หลังจากได้เตียงแล้ว
ผู้ป่วยคนนี้ บอกว่า ต้องหารถพยาบาลเอง โดยโรงพยาบาลแรกแนะนำให้โทร 1668 แต่โทรไป 3 ครั้ง ก็ไม่มีคนรับสาย โทรไป 1669 มีเจ้าหน้าที่รับสายและบอกเพียงว่า ต้องรอคิวเพราะขณะนี้คนไข้เยอะมาก จะมีรถพยาบาลมารับแล้วก็เงียบไป ซึ่งไม่มีการยืนยันว่า จะมีรถพยาบาลมารับผู้ป่วยช่วงไหน คิวที่เท่าใด
ปัญหานี้ทำให้ผู้ป่วย COVID-19 คิดหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จะใช้บริการรถสาธารณะ เช่น รถกะป้อ หรือรถกระบะ เพื่อไปยังโรงพยาบาล แต่เนื่องจากเป็นผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว ทำให้การหารถเป็นเรื่องลำบาก จึงตัดสินใจใช้บริการรถพยาบาลเอกชน แม้จะราคาแพงก็ตาม
ถ้าบอกว่าเราจะได้คิวรถพยาบาล วันที่ 11 หรือวันที่ 12 เม.ย. เราจะรู้สึกว่ามีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน แต่ทั้งวันก็ไม่มีเสียงตอบรับอะไรมา แล้วกังวลว่าเรากำลังรออะไรอยู่
เมื่อไม่มีความชัดเจนเรื่องคิว ผู้ป่วย เล่าว่า ตัดสินใจใช้บริการรถพยาบาลเอกชน โดยเพื่อนช่วยติดต่อให้ผ่านคนกลาง ไม่ได้ติดต่อรถพยาบาลเอกชนด้วยตัวเอง
ซึ่งได้รับการยืนยันว่า มีรถพยาบาล แต่ราคาสูงถึง 7,000 บาท ไม่มีเรทราคากลางที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยได้เลือก แต่เนื่องจากเพื่อนยอมจ่ายให้ เพราะประเมินแล้วว่าเธอต้องเข้ารับการักษาในโรงพยาบาล และกังวลว่าเตียงที่ได้มาจะหลุดไป จึงจำเป็นต้องยอมจ่ายในราคาที่สูงลิ่ว โดยมีหลักฐานเป็นสลิปการโอนเงิน ตามจำนวนเงินดังกล่าว
ถ้าคนธรรมดา หรือคนที่ไม่สามารถเบิกอะไรได้ หรือไม่ได้มีต้นทุน ไม่มีทางหรอกที่จะมาใช้ 7,000 บาทกับค่าเดินทาง เพราะชั่วโมงนั้นเป็นช่วงกอบโกยของคนที่เขาเห็นแก่ได้ ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสของตัวเอง
รถพยาบาลเอกชน ยืนยันค่าบริการ-อุปกรณ์ความเสี่ยง 4,000 บาท
ทีมข่าวไทยพีบีเอสตรวจสอบเรื่องนี้กับนายจิรากร แซ่ตั้ง กรรมการผู้จัดการบริษัท แอมบูแลนซ์ เอ็กซ์เพรส จำกัด เจ้าของรถพยาบาลในคืนดังกล่าว เขายอมรับว่าเป็นคนขับรถพยาบาลระบบแรงดันลบไปส่งผู้ป่วย ระหว่างรับ-ส่งผู้ป่วย ไม่มีปัญหาอะไร มีการโทรศัพท์หาผู้ป่วยเพียง 1 ครั้ง เพื่อสอบถามเส้นทาง แต่ไม่ได้ถามถึงค่าบริการ
หลังจากส่งเสร็จแล้ว ผู้ป่วยติชมเรื่องการบริการว่าพอใจกับคุณภาพและมาตรฐานของรถ แต่ติดใจราคาที่แพงเกินไป หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ยินผู้ป่วยพูดแบบนั้น จึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามกับผู้ป่วยว่าจ่ายค่ารถเท่าใด เมื่อรู้ความจริงว่าผู้ป่วยต้องจ่ายถึง 7,000 บาท ก็สร้างความไม่สบายใจอย่างมาก ซึ่งเขาได้นำสลิปการโอนเงินจากผู้ว่าจ้าง จำนวน 4,000 บาท มายืนยันความบริสุทธิ์ใจต่อทีมข่าวไทยีพีบีเอสว่าไม่ได้อยู่ในกระบวนการหักหัวคิว
ผมไม่ได้รับการว่าจ้างจากผู้ป่วยโดยตรง มีคนประสานมาอีกที พอได้ยินเรื่องดังกล่าว รับไม่ได้เลย เป็นการซ้ำเติมผู้ป่วย ทำให้ผมตัดสินใจแล้วว่าหลังจากนี้จะรับเคส ต้องคุยกับคนไข้ หรือญาติเท่านั้น
เจ้าของรถพยาบาล ชี้แจงราคารถพยาบาล หากวิ่งรับส่งผู้ป่วยปกติ ราคาจะอยู่ที่ 2,500-3,000 บาท ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่หลังจากเกิดการระบาด COVID-19 จึงจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายความเสี่ยงอีก 1,500 บาท เป็นค่าใช้จ่าย ชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย จึงคิดราคา 4,000 บาท หรือหากผู้ป่วยไม่มีเงิน
ทางบริษัทก็ไม่คิดจะปฎิเสธผู้ป่วย หากมีแค่ไหนก็จ่ายเท่านั้น หรือบริการให้ฟรีก็เคยทำมาแล้ว ขณะนี้บริษัทของตน ได้ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และยังมีมูลนิธิ ร่วมเป็นจิตอาสารับ-ส่งผู้ป่วยฟรี หลังจากที่กิดปัญหารถพยาบาลไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงทุกวัน
เรียกร้องควบคุมธุรกิจ "รถพยาบาล"
หลังจากเกิดปัญหานี้ ผู้ป่วย COVID-19 ยืนยันจะไม่แจ้งความดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำความผิด แต่ต้องการเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งหารือมาตรการควบคุมธุรกิจรถพยาบาล เพราะเมื่อไม่มีราคากลาง ทำให้มีการเรียกค่าบริการแพงเกินจริง อีกทั้งประชาชน คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารแบบไร้ทิศทาง
ขณะที่เจ้าของรถพยาบาลเอกชน ชี้แจงว่า ได้เคยหารือกับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เนื่องจากรถพยาบาลเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการใช้บริการจริง โดยวาระการประชุมดังกล่าว กระทรวงฯ จะเข้ามามาควบคุม กำหนดราคา เพื่อให้เป็นมาตรฐาน แต่เกิดปัญหา COVID-19 ทำให้การประชุมครั้งถัดไปยังไม่เกิดขึ้น และเกิดกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเสียก่อน
สพฉ.จับมือมูลนิธิ-เอกชน รับ-ส่งผู้ป่วยฟรี
น.อ.นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านปฎิบัติการณ์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ. ) ระบุว่า ขณะนี้ สพฉ. ได้รับการประสานมาจากศูนย์เอราวัณ และ รพ.บำราศนราดูร ให้ช่วยจัดหาผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 20 คน ( 19 เม.ย.64 ) จากบ้านในเขตกรุงเทพฯ ไปส่งยัง รพ.นครท่าฉลอม จ.สมุทรสงคราม
จากสถานการณ์ระบาด COVID-19 ระลอกนี้ ได้รับความร่วมมือกับมูลนิธิกู้ภัยและบริษัทเอกชนที่มีความพร้อมเข้ามาเป็นจิดตอาสารับส่งผู้ป่วย ได้แก่ มูลนิธิสว่างเบญจธรรม 2 คัน ฐิติการณ์ แอมบูแลนซ์ 1 คัน สยาม แอมบูแลนซ์ 1 คัน และแอมบูแลนซ์เอ็กซ์เพรส 1 คัน เบื้องต้นมีรถจิตอาสา 5 คัน รับส่งผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจากปัญหาการร้องเรียน รอรถพยาบาล หรือ แม้กระทั่ง การหักหัวคิวรถพยบาลเอกชน ที่แพงเกินจริง เนื่องจากยังไม่มีการควบคุมกำหนดราคา แต่เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นการตัดวงจร
เราพยายาม ที่จะทำให้ช่องว่าง ระหว่างความต้องการ กับความตอบสนองมันแคบที่สุด และเราหวังจะตัดวงจร เพื่อไม่ให้ประชาชนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายการเข้าถึงบริการ