วันนี้ (5 พ.ค.2564) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อ COVID-19 มีผู้ติดเชื้อที่ทำงานในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ อยู่อาศัยในชุมชนเขตคลองเตย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีคนอยู่กันอย่างหนาแน่น รวม 41 ชุมชน ลักษณะบ้านอยู่ติด ๆ กัน การระบายอากาศไม่ดี อาจทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง
กทม. และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) จึงได้ลงพื้นที่ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกประชาชนในชุมชนที่มีการระบาด 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้านพัฒา 70 ไร่ ชุมชนพัฒนาใหม่ และชุมชนริมคลองวัดสะพาน ในวันที่ 27-30 เม.ย.2564 จำนวน 1,336 คน พบผู้ติดเชื้อ 99 คน คิดเป็นร้อยละ 7.41
ตรวจกลุ่มเสี่ยงชุมชนคลองเตย วันละ 1,000 คน
การแพร่ระบาด COVID-19 ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากคนใกล้ชิด ทั้งคนในที่ทำงาน คนในครอบครัว ยกตัวอย่างกรณีชุมชนแออัดในเขตคลองเตยที่มีชุมชนมาก มีบ้านเรือน 75,000 หลังคาเรือน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ กทม. ต้องเร่งค้นหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดให้ได้มากที่สุด เพื่อยุติการระบาดให้เร็วที่สุด โดยศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่และสำนักงานเขต ทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน (Covid manager) นำคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตรวจหาเชื้อ เริ่มจากจุดที่พบการติดเชื้อจำนวนมากก่อน เป้าหมายการตรวจวันละ 1,000 คน และพยายามขยายเพิ่มศักยภาพการตรวจให้ครอบคลุมทุกชุมชน ในวันนี้ (3 พ.ค.) จนถึงวันที่ 19 พ.ค.2564
กทม.ขอวัคซีนเพิ่ม คุมโควิดระบาดชุมชุนแออัด
นอกจากจะตรวจหาเชื้อเชิงรุกแล้ว พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. อยู่ระหว่างการขอวัคซีน COVID-19 เพิ่มเติม เพื่อจะใช้ในการควบคุมการระบาดอย่างเร่งด่วนแบบที่ กทม.สามารถควบคุมได้ที่ตลาดบางแค และทองหล่อ โดยฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูง
กทม. กับ สปคม. เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน และมีแผนการตรวจซ้ำในชุมชนเสี่ยงเพื่อยุติการระบาด พร้อมทั้งเร่งฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มเสี่ยง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดวงกว้างในชุมชน
ข้อมูล ณ วันที่ 2 พ.ค.2564 เวลา 20.00 น. กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 539 คน ยอดติดเชื้อสะสมการแพร่ระบาดระลอก เม.ย. 13,283 คน อยู่ระหว่างการรักษา 7,569 คน เสียชีวิตสะสม 76 คน