วันนี้ (4 มิ.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางลาง จ.ยะลา และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เพื่อเก็บข้อมูลปัจจัยนิเวศ และปัจจัยคุกคามในผืนป่าฮาลา-บาลา ระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ายังมีสภาพป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าสนเขา ที่มีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก
ทั้งนี้ระหว่างการสำรวจ เจ้าหน้าที่พบขนนกหว้า และลานนกหว้ากว่า 10 จุด รวมทั้งพบซากเก้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าถูกล่า โดยเสือขนาดกลาง ซึ่งอาจจะเป็นเสือดาวหรือเสือลายเมฆ เนื่องจากเนื้อส่วนท้องหายไป และไม่พบร่องรอยกระสุน หรือบ่วงแร้ว
นอกจากนี้ ยังพบนกอีกหลายชนิด เช่น นกแซงแซวหางบ่วงเล็ก นกเขนน้ำหลังเทา นกมุ่นรกภูเขา นกกินปลีหางยาวคอดำ นกจับแมลงสีคล้ำหางแถบขาว นกอีแพรดคอขาว นกจู๋เต้นหางสั้น นกนิลตวาใหญ่ นกจับแมลงเล็กขาวดำ นกเขาลายใหญ่ นกโพระดกคางเหลือง
ที่สำคัญยังพบ นกเงือกกรามช้าง 3 ตัว บินผ่านจุดที่เจ้าหน้าที่นั่งพัก นกเงือกปากดำ 4 ตัว นกเงือกชนหิน 1 ตัว และได้ยินเสียงนกเงือกหัวแรด 5 จุด อีกทั้งตลอดเส้นทางของการสำรวจได้ยินเสียงนกชนหิน นกหว้า ส่งเสียงร้องตลอดเส้นทาง
การสำรวจครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบ "กบใบไม้” หนึ่งในความหหลากหลายสายพันธุ์ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่อาศัยในป่าฮาลาบาลา ติดชายแดนมาเลเซีย ด้วยรูปร่างหน้าตาที่แปลกประหลาดต่างจากกบชนิดอื่นๆและพรางตัวให้กลมกลืนกับใบไม้หรือธรรมชาติรอบตัว เพื่อให้รอดพ้นจากสายตาของนักล่า
นอกจากนี้ บริเวณยอดเขายังพบเฟิร์นบัวรัศมี บัวแฉก หม้อข้าวหม้อแกงลิง กล้วยไม้รองเท้านารีคางกบ และพืชพันธุ์หายากอีกหลายชนิด การสนธิกำลัง เพื่อลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ของเจ้าหน้าที่อุทยานบางลาง และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า ในจุดที่เหมาะสมหลายจุด เพื่อใช้ติดตามพฤติกรรมของสัตว์ป่า และสำรวจความสมบูรณ์ของสัตว์ป่า