วันนี้(23 มิ.ย.2564) ในช่วงบ่ายวันนี้ รัฐบาลเเละภาคเอกชน นัดหารือแนวทางช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งจะมีทั้งตัวแทนจากภาครัฐ คือ รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งจะเป็นตัวเเทนร่วมพูดคุย ระบุว่า ร้านอาหาร ภัตตาคาร สปา ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว อาชีพอิสระเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจาการระบาดของ COVID-19 จากมาตรการควบคุมการระบาด
หากนับการระบาดตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ขณะนี้มีเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบร้อยละ 70 จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด 3.1 ล้านราย บางรายต้องปิดกิจการ เฉพาะการระบาดของ COVID-19 ระลอกเดือน เม.ย. - พ.ค. มีมากกว่า 200,000 ราย จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเร่งด่วน
นายแสงชัย ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแต่เอสเอ็มอีจำนวนมากเข้าไม่ถึง เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลนระยะที่ 1 มีเอสเอ็มอีเข้าถึงเพียง 77,787 ราย วงเงิน 138,200 ล้านบาท แต่การปล่อยซอฟต์โลนกลับมีเอสเอ็มที่ได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท เพียงร้อยละ 25 ที่เหลือร้อยละ 75 เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่
จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณา 3 มาตรการ โดยมาตรการเร่งด่วนแรกคือ การพักต้น-พักดอกและยืดระยะเวลาการชำระออกไป รวมทั้งไม่ติดเครดิตบูโร เพื่อประคองธุรกิจในระยะสั้นในช่วง 3 - 12 เดือน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินออกมาตรการยกเว้นการชำระเงินต้น และดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ เพื่อช่วยดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถประคับประคองธุรกิจ จนกว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จะคลี่คลาย และกิจการกลับมามีรายได้อีกครั้ง มีผลตั้งเเต่เดือน ก.ค. - ธ.ค. 2564