วันนี้ (25 มิ.ย.2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังพบผู้ติดเชื้อสูง ว่า มีหลายข้อเสนอและต้องเร่งหารือกับ ศบค. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมและต้องคำนึงผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ ได้สั่งการให้ สธ.เพิ่มอีก 100 เตียง รองรับผู้ป่วยหนัก พร้อมปรับระดับเตียงผู้ป่วยสีเขียวให้รับผู้ป่วยสีเหลือง และสีเหลืองให้รับผู้ป่วยสีแดงได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอให้ล็อกดาวน์ กทม. 7 วัน ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ยังไม่ยืนยันว่าจะดำเนินการหรือไม่ เพราะต้องรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วน ถึงเหตุผลความจำเป็น และที่สำคัญ ต้องถามประชาชนด้วยว่า หากปิดและได้รับความเดือดร้อนจะทำอย่างไร ซึ่งรัฐบาลต้องหางบประมาณมาดูแล
จะแน่ใจได้อย่างไรว่า เมื่อปิดแล้วจะจบ และหากไม่จบจะทำอย่างไร ผมคิดว่า ถ้าเจ็บแล้วจบ ก็ควรทำ แต่ถ้าเจ็บแล้วไม่จบ ก็ต้องหาวิธีการอื่นๆ อีก แต่ยืนยันจะทำให้ดีที่สุด ขณะนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องดูแลตัวเอง
ยังไม่เพิ่มยาแรง-ใช้กฎหมายที่มีอยู่
ส่วนข้อเสนอบังคับใช้กฎหมายที่แรงขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ขณะนี้นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายมีทุกตัวและบังคับใช้กับทุกคน ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ควรฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ พร้อมให้ไปถามผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายและออกมารวมตัวชุมนุม ว่า เกรงกลัวกฎหมายหรือไม่ และการกระทำนั้นสร้างประโยชน์กับประเทศหรือไม่
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงข้อเสนอให้ปิดประเทศว่า ได้รับฟังและยืนยันจะทำให้ดีที่สุด เพราะชีวิตต้องเดินหน้า ประชาชนต้องมีรายได้
เบื้องต้นหากพบสถานที่ใดที่มีการระบาดก็จะปิดจุดดังกล่าว ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด โดยจะพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด ไม่ให้ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ รวมทั้งจะเร่งรัดจัดสรรวัคซีนให้เร็วที่สุด ให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่เพิ่มขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีหลายประเทศต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และไม่กังวลต่อสถานการณ์ของไทย จึงต้องมีมาตรการที่รัดกุมและปลอดภัย รวมทั้งไม่ให้นักท่องเที่ยวติดเชื้อกลับไป เช่น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่จะเปิดในวันที่ 1 ก.ค.นี้ หากนำร่องได้จะเดินหน้าในหลายพื้นที่ แต่หากดำเนินการม่ได้ก็ต้องหยุด เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องแรงงานข้ามชาติว่า ได้สั่งให้กวดขันทุกช่องทาง เปิดจุดตรวจด่านชายแดนเพิ่มขึ้น เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบเข้าประเทศ พร้อมกำชับกระทรวงแรงงานให้ไปตรวจสอบโรงงาน หากพบการจ้างแรงงานผิดกฎหมายจะต้องดำเนินคดี
ขอบคุณแพทย์ และพยาบาล ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ทราบว่าเป็นความห่วงใย แต่ขอให้ฟัง ศบค. และ สธ.ในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้วย หากมีข้อสงสัยให้สอบถาม อย่าพูดกันไปมา เพราะจะกลายเป็นคนละทิศละทาง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ก่อนวิกฤตเตียงเต็ม ! หมอแนะคุมเข้ม กทม.สกัดเชื้อโควิด
สมช.คาด 7 วันคลี่คลายเตียงเต็ม
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผอ.ศปก.ศบค. กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ล็อกดาวน์ กทม.ว่า เรื่องนี้ต้องรอให้สธ.พิจารณา และเสนอมา แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะแจ้งเมื่อไหร่ใด
เมื่อเสนอมาแล้ว ต้องรายงานผอ.ศบค.พิจารณาว่า จะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ก็รับฟังทุกส่วน และเรื่องนี้จำเป็นต้องนำเข้าศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาด้วย
สถานการณ์มีความเป็นห่วงทั้งการแพร่ระบาด และเตียงรองรับผู้ป่วยที่ไม่เพียงพอ และห่วงคนทำมาหากิน หากจะล็อกดาวน์ จะดูแลอย่างไรที่จะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ห่วงทุกอย่างจึงต้องดูให้รอบด้าน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากออกมาทำมาหากิน แล้วเสี่ยงติดโรคจะหนักกว่าเดิม พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ศบค.ดูอยู่ ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เหตุเกิดที่ไซต์งานก่อสร้าง และโรงงาน ส่วนจุดที่ประชาชนทำมาหากินทั่วไป ยังไม่พบมาก ดังนั้นการพิจารณาต้องรอบคอบทุกด้านไม่ใช่รับฟังด้านใดด้านหนึ่ง
ทั้งนี้เหตุผลต้องการให้ล็อกดาวน์ กทม.เพราะเรื่องเตียงที่จะรองรับผู้ป่วย ซึ่งศปก.ศบค.ได้ประสานทุกแห่ง ทั้งกทม.และปริมณฑล และ สธ.เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเรื่องเตียงให้มากขึ้น วันนี้มีเอกชนเข้ามาช่วยด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะใช้เวลาพิจารณาว่าจะล็อกนานเท่าใด เพราะทั้งโรงพยาบาลศิริราช และ โรงพยาบาลราชวิถี ขอหยุดรับผู้ป่วยเนื่องจากไม่มีเตียง พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ถ้าเสนอมาก็จะพิจารณา ตอนนี้แค่รอกระทรวงสาธารณสุขเสนอมา
เบื้องต้นจะใช้มณฑลทหารบกที่ 11 ถ.แจ้งวัฒนะ ที่โรงพยาบาลเอกชน เสนอมารับผู้ป่วยสีแดง ที่อาการหนักประมาณ 50 เตียง และสีเหลือง 50 เตียง คาดว่าภายใน 7 วัน จะปฎิบัติการได้ และพอจะคลี่คลายสถานการณ์ได้
พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ถ้าเพิ่มเพียงในโรงพยาบาลก็ต้องขอสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์จากกระทรางสาธารณสุข และกระทรวงกลาโหม ตามที่นายกรัฐมนตรี สั่งการไปแล้ว
นอกจากนี้ถ้าล็อกดาวน์ก็ต้องมีแผนรองรับประชาชนที่จะกลับต่างจังหวัดด้วย ต้องพิจารณาทั้งประเทศ เวลาออกมาตรการที่หนึ่งต้องดูภาพรวมทั้งหมด และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อื่นด้วย ไม่ได้มองเฉพาะกทม.และปริมณฑล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก่อนวิกฤตเตียงเต็ม ! หมอแนะคุมเข้ม กทม.สกัดเชื้อโควิด