ช่วงเย็นของวันที่ 7 ม.ค.2568 เกิดเหตุฆาตกรรมอย่างอุกอาจท่ามกลางแหล่งชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน บริเวณตรงข้ามวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถนนบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. โดยต่อมาทราบชื่อผู้เสียชีวิตชื่อคือ ลิม กิมยา อดีตนักการเมืองพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party -CNRP) โดยเขาถูกมือปืนใช้อาวุธปืนยิงใส่ร่างจำนวน 2 นัดก่อนเสียชีวิต จากนั้นมือปืนผู้ก่อเหตุได้ขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไป
ลิม กิมยา เป็นสมาชิกพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party -CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งพรรค CNRP ถูกศาลตัดสินยุบพรรคในข้อหากบฏเมื่อวันที่ 16 พ.ย.2560 สส.ของพรรคถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และแกนนำพรรคร่วมถึงสมาชิกพรรคกว่า 100 คน ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ บางคนหลบหนีมายังประเทศไทย ขณะที่บางส่วนไปยังประเทศอื่น ๆ
ลิม กิมยา อดีตนักการเมืองพรรคกู้ชาติกัมพูชา ถูกยิงเสียชีวิตย่านบางลำพู ในช่วงเย็นวันที่ 7 ม.ค.68 ที่ไทย
กรณีเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหวหรือนักกิจกรรมต่างชาติที่เกิดขึ้นในไทย ในกรณีของ ลิม กิมยา ไม่ใช่ครั้งแรก หากแต่ยังมีนักกิจกรรมที่สูญหายในไทยมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้มาแล้ว
วันที่ 17 ต.ค.2558 "กุ้ย หมินไห่" Gui Minhai ผู้จัดพิมพ์และนักเขียนหนังสือชางฮ่องกง-สวีเดน หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ "Michael Gui" โดยเขาเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการเมืองจีน ต่อมาได้หายตัวไปหลังจากออกจากห้องพักที่พัทยา ประเทศไทย
"กุ้ย หมินไห่" Gui Minhai ผู้จัดพิมพ์และนักเขียนหนังสือชางฮ่องกง-สวีเดน หายตัวจากพัทยา ประเทศไทย เมื่อปี 58
เขาเป็น 1 ใน 5 คน ที่หายตัวไปจากเหตุการณ์ต่อเนื่อง จากเหตุการณ์หายตัวที่เรียกว่า Causeway Bay Books disappearances.
หลังจากนั้น "กุ้ย หมิ่นไห่" ปรากฏตัวอีกครั้งในจีน โดย กุ้ย หมิ่น ไห่ ถูกทางการจีนควบคุมตัวไว้เพราะอุบัติเหตุรถยนต์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในปี 2546
รายงานจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ระบุว่า "เจือง ซุย เญิ๊ต (Truong Duy Nhat)" หนึ่งในผู้ร่วมจัดรายการของสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย (Radio Free Asia) ที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.2562 ที่ผ่านมา หลังจากเขาเดินทางมายื่นคำขอที่ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) ที่กรุงเทพ
"เจือง ซุย เญิ๊ต" ผู้จัดรายการวิทยุ ชาวเวียดนาม หายตัวจากไทย ก่อนไปปรากฏตัวที่เวียดนาม
มีรายงานว่า ระบุว่า ในวันที่หายตัวเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2562 เจือง ซุย เญิ๊ต ถูกจับตัวไประหว่างเดินซื้อของอยู่ในห้างสรรพสินค้าย่านรังสิต ก่อนที่ เจือง ซุย เญิ๊ต จะปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะผู้ถูกคุมขังในเวียดนาม
ในปีเดียวกัน เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ก็เกิดเหตุการณ์นักกิจกรรมชาวลาวสูญหายในไทยเช่นกัน โดย "อ๊อด ไชยะวง" อดีตสมาชิกกลุ่ม 'ลาวเสรี' ซึ่งเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ปัญหาการคอร์รัปชันและสิ่งแวดล้อมในลาว ได้หายตัวไปจากบ้านพักที่กรุงเทพฯ โดยขณะนั้น เขาอยู่ระหว่างการลี้ภัยในประเทศไทย หลังจากจะเข้าพบกับผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความยากจนสุดโต่งและสิทธิมนุษยชนในขณะนั้น เมื่อวันที่ 15 มี.ค.
"อ๊อด ไชยะวง" อดีตสมาชิกกลุ่ม 'ลาวเสรี' ภาพ : iLaw
ทั้งนี้ ข้อมูล จาก UNHCR ระบุว่า เนื่องจากประเทศไทยมิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี ค.ศ. 1951 และไม่มีกฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยผู้ซึ่งมิได้มีสิทธิตามกฎหมายที่จะพำนักในประเทศไทย
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทย หายตัวที่ประเทศกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไทย ก็มีเหตุการณ์นักกิจกรรมที่สูญหายเมื่ออยู่ในต่างประเทศเช่นกัน เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2563 "วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์" นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ที่ลี้ภัยในประเทศกัมพูชา ได้ถูกลักพาตัวเขาไปจากที่พักขณะลี้ภัยการเมืองอยู่ในกรุงพนมเปญ จนนำมาสู่การเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรม ปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
ที่มาข้อมูล : VOA , แอมเนสตี้ประเทศไทย , https://www.thaingo.org/ , ilaw
อ่านข่าว : "ลิม กิมยา" แห่งพรรค CNRP ของกัมพูชา
ออกหมายจับ "จ่าเอ็ม" มือยิง "ลิม กิมยา" อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา
ตร.เร่งตามจับมือยิงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวกัมพูชาดับ