สภาพคล่องแบงก์จากเดือน ก.ค.54 เพิ่มขึ้น การขยายตัวของเงินฝากและตั๋วแลกเงิน ส่วนสินเชื่อขยับลง
ขณะที่ ยอดเงินฝาก มีจำนวน 7.06 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.95 หมื่นล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (ซึ่งมีตั๋วแลกเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) เพิ่มขึ้น 8.40 หมื่นล้านบาท มาที่ 1.50 ล้านล้านบาท ส่งผลให้สินทรัพย์สภาพคล่องตามความหมายกว้าง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น เงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ รวมถึงเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิ) ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2554
สำหรับช่วงไตรมาส 3/2554 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมสินเชื่อน่าจะยังสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวไว้ได้ โดยมีแรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศยังคงเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และปัจจัยด้านอุปทานจากการขยายสินเชื่อเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสิ้นปีของแต่ละธนาคาร
ขณะที่ ภาพการแข่งขันระดมเงินออมระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองและกับคู่แข่งอื่นๆ คงจะเข้มข้นต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก อันเป็นผลมาจากการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากซึ่งคงมีผลทางจิตวิทยาให้ผู้ฝากเงินบริหารเงินออมระหว่างธนาคารพาณิชย์และแหล่งเงินออมอื่นๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน ปัจจัยดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของสินเชื่อ การออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยและภาครัฐบาลในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ตลอดจนการระดมเงินออมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อรองรับการดำเนินนโยบายของภาครัฐ คงจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ออกผลิตภัณฑ์เงินออมใหม่ๆ และแข่งขันด้านราคาของเงินฝากในบางช่วงเวลา เพื่อรักษาฐานลูกค้าและระดมทุนให้เพียงพอต่อฐานะสภาพคล่องของแต่ละธนาคาร ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การเติบโตของเงินฝากและตั๋วแลกเงินน่าจะช่วยหนุนให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงไตรมาส 3/2554 มีระดับค่อนข้างทรงตัวหรือไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นไตรมาส 2/2554
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งหากทรุดลงไปสู่การชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จนเพิ่มความเป็นไปได้ต่อการเกิดภาวะถดถอยซ้ำสองแล้ว ย่อมจะมีผลสืบเนื่องมาถึงภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินของไทย ตลอดจนการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง และคงมีผลให้ภาพการแข่งขันระดมเงินฝาก แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อ รวมถึงสภาพคล่องและการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นไปอย่างระมัดระวังขึ้น
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงผู้ออมเอง ก็คงจะต้องเตรียมวางแผน เพื่อรับมือกับสภาวะผันผวนในระยะข้างหน้า อันน่าจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจและการจัดสรรเงินออมเป็นไปได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ