ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมประมง สั่งห้ามเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิด

สิ่งแวดล้อม
2 ก.ค. 64
18:47
7,315
Logo Thai PBS
กรมประมง สั่งห้ามเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิด
กรมประมง ออกประกาศฯ ห้ามเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ 13 ชนิด เช่น ปลาหมอสีคางดำ ปูขนจีน หอยมุกน้ำจืด หมึกสายวงน้ำเงิน และปลา GMO ควบคุมการแพร่พันธุ์และทำลายระบบนิเวศแหล่งน้ำ มีผล 16 ส.ค.นี้

วันนี้ (2 ก.ค.2564) ​นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของไทยอย่างมาก ยกตัวอย่างกรณีปลาหมอสีคางดำที่หลุดรอดเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นเป็นอย่างมาก

 

ในครั้งนั้นกรมประมงได้แก้ไขปัญหา ด้วยการการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงพ.ศ.2561 สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิด ได้แก่ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2561 อีกทั้งยังได้มีมาตรการจับสัตว์น้ำดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ด้วยการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือการฝังกลบ

จากนั้นกรมประมงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่นในชนิดพันธุ์อื่น ๆ และได้มีการประชุมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเพาะเลี้ยงในประเทศ การรุกรานที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ประกอบการ ประกอบกับการพิจารณาสัตว์น้ำในทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกันควบคุมและกำจัดของประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2561 โดยพิจารณาควบคู่กับทะเบียนชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกราน 100 อันดับโลก (GISD; Global Invasive Species Database,IUCN) จึงเห็นควรที่จะเพิ่มชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ขึ้นบัญชีห้ามเพาะเลี้ยงเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น

ล่าสุด กรมประมง ได้อาศัยความตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2560 ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 27 พ.ค.2564 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ส.ค.2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ ซึ่งประกอบสัตว์น้ำด้วย 13 ชนิด ได้แก่

  • ปลาหมอสีคางดำ
  • ปลาหมอมายัน
  • ปลาหมอบัตเตอร์
  • ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม
  • ปลาเทราท์สายรุ้ง
  • ปลาเทราท์สีน้ำตาล
  • ปลากะพงปากกว้าง
  • ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช
  • ปลาเก๋าหยก
  • ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด
  • ปูขนจีน
  • หอยมุกน้ำจืด
  • หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena

 

ทั้งนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวฯ มีแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้ กรณีที่เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกลุ่มเหล่านี้ ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตตามประกาศกรมประมงภายใน 30 วัน หลังจากประกาศฯ มีผลบังคับใช้ และเมื่อไม่ต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่นกลุ่มดังกล่าวแล้วให้รีบนำสัตว์น้ำส่งมอบให้สำนักงานประมงจังหวัด หรือหน่วยงานกรมประมงอื่น ๆ ในพื้นที่โดยด่วน, กรณีที่ประชาชนทำการประมงแล้วได้สัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้สัตว์น้ำตายก่อนนำไปจำหน่าย, กรณีที่สัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดนี้จากธรรมชาติได้หลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา เกษตรกรสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย, กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่ต้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิดไว้เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมงก่อน, ห้ามผู้ใดปล่อยสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิด ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พ.ร.ก.การประมง 2558

 

บทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การออกประกาศฉบับดังกล่าวโดยห้ามทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้ง 13 สายพันธุ์นี้ ถือเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นที่หลุดรอดเข้ามาแพร่พันธุ์และสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทย

 

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขอความร่วมมือประชาชนหากเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น (สัตว์น้ำจากต่างประเทศ) และไม่ต้องการที่จะเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว อย่านำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ และขอให้นำสัตว์น้ำดังกล่าวมามอบให้กรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้านให้รับไปดูแล ป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศในระยะยาว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง