วันนี้ (6 ก.ค.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติโคเรีย (Chorea) ว่า เป็นการเคลื่อนไหวผิดปกติในรูปแบบของการขยับ บิด หรือม้วนไปมา ไม่สามารถคาดเดาทิศทางหรือรูปแบบได้ คล้ายการรำ อาจพบได้ที่แขนหรือขาข้างเดียว หรือเป็นครึ่งซีก หรือเป็นทั้งตัว
ส่วนมากผู้ป่วยไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวผิดปกตินี้ได้ แต่มักปิดบังอาการด้วยการใช้แขนหรือขาข้างนั้นทำกิจกรรมอื่นแทน เช่น มีโคเรียที่มือ ผู้ป่วยมักจับกระดุมไปมาคล้ายกลัดกระดุมเพื่อกลบเกลื่อนอาการ หรืออาจมีอาการที่ไม่สามารถบังคับให้ตัวเองอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
อาการโคเรียและอาการร่วมเหล่านี้ มักรบกวนการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย เช่น ถือของแล้วหล่น ปัดของหล่น คว้าสิ่งของไม่ได้ เดินโยกเยกหรือหกล้ม หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเกิดโคเรียมีได้หลายสาเหตุ แบ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม และสาเหตุที่เกิดภายหลัง โดยโรคที่พบทางพันธุกรรมที่เกิดโคเรียได้บ่อยคือ โรคฮันทิงทัน (Huntington disease) มักพบในคนอายุน้อยและมักมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย
ส่วนสาเหตุที่เกิดภายหลัง มีหลายปัจจัยที่พบบ่อยคือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หลอดเลือดสมองตีบในบางตำแหน่งของสมอง ภาวะอิมมูนที่ตอบสนองผิดปกติต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย ภาวะเกลือแร่ที่ผิดปกติ หรือจากการใช้ยาบางกลุ่ม
การรักษาหากเกิดโรคทางพันธุกรรม ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดจากโรค มักเป็นการรักษาเพื่อควบคุมอาการโคเรียและอาการทางจิตเวชเท่านั้น การวางแผนครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วย จุดประสงค์เพื่อลดการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และลดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการในครอบครัวนั้น ๆ
การรักษาสาเหตุที่เกิดภายหลัง มักเป็นการมองหาสาเหตุและการแก้ไขเฉพาะจุด ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อประเมินหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง