ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลแล็บชี้กระทิงกุยบุรี ติด "ลัมปี สกิน" ตาย 1 ตัว

สิ่งแวดล้อม
15 ก.ค. 64
11:27
1,045
Logo Thai PBS
ผลแล็บชี้กระทิงกุยบุรี ติด "ลัมปี สกิน" ตาย 1 ตัว
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยผลแล็บชี้กระทิงกุยบุรี ติด "สัมปี สกิน" ตาย 1 ตัว รอผลตรวจอีก 1 ตัว ขณะที่ ผอ.สบอ.3 ประสานฉีดวัคซีนปศุสัตว์ในพื้นที่ชุมชนรอบแนวป่าอนุรักษ์ พร้อมส่งทีมสอบสวนโรคเฝ้าระวังฝูงกระทิงที่เหลือ

จากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร.1 (ป่ายาง) พบซากกระทิงเพศผู้ อายุ 15-20 ปี น้ำหนัก 1,200-1,300 กิโลกรัม นอนตายในลำห้วยบริเวณท้ายบ่อน้ำ 2 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดยเบื้องต้นพบร่องรอยกระทิงต่อสู้กันเอง พร้อมเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของอวัยวะภายในส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุการตาย

วันนี้ (15 ก.ค.2564) นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า กระทิงตัวดังกล่าวติดเชื้อลัมปี สกิน

 

เบื้องต้นได้ประสานท้องถิ่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี เพื่อฉีดพ่นยาฆ่าแมลงบริเวณรอบปศุสัตว์ และบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เพราะมีการระบาดในโคและกระบือ โดยมีพาหะสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อ คือ แมลงดูดเลือด เช่น เห็บ แมลงวันดูดเลือด และยุง

ส่วนมาตรการเชิงรุกได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาวัคซีนฉีดปศุสัตว์ในพื้นที่ และเฝ้าระวังพื้นที่ชุมชนรอบป่าอนุรักษ์ที่มีกระทิงมาหากิน เช่น หมู่บ้านรวมไทย หมู่บ้านย่านซื่อ หมู่บ้านพุบอน อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประชาสัมพันธ์ไม่ให้นำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยใกล้แนวป่าที่กระทิงอาศัยอยู่

ขณะที่กรมอุทยานฯ ติดตามพฤติกรรมการหากินและเฝ้าระวังอาการของกระทิงและสัตว์ป่า ที่อาจมีการติดเชื้อดังกล่าวได้ โดยสังเกตจากลักษณะตุ่มขึ้นตามผิวหนัง หากพบจะเร่งประสานสัตวแพทย์ในพื้นที่เพื่อตรวจสอบ และกำหนดแนวกันชนไม่ให้นำปศุสัตว์เข้ามาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

ทั้งนี้ ในวันที่ 16-17 ก.ค.นี้ นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์ และปศุสัตว์จังหวัด จะลงพื้นที่สอบสวนโรค และหามาตรการเฝ้าระวังโรคระบาดดังกล่าว

ภาพ : อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ภาพ : อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ภาพ : อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี สรุปสถานการณ์การระบาดโรคลัมปี สกิน ใน จ.เพชรบุรี ว่า มีประชากรวัว ควาย ประมาณ 50,000 ตัว เริ่มพบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ช่วงเดือน พ.ค.2564 ปัจจุบันมีสัตว์ป่วยสะสม 4,038 ตัว ตายสะสม 394 ตัว ปศุสัตว์ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้วัวในพื้นที่จำนวน 2,356 ตัว และกำลังเร่งดำเนินการฉีดให้วัวรอบพื้นที่อุทยานฯ เพิ่มเติม

ปัจจุบันพบกระทิงหากินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ตามธรรมชาติมากกว่า 300 ตัว และจุดชมช้างและกระทิงในพื้นที่ ส่วนกระทิงอีก 1 ตัว ที่พบซากในพื้นที่หมู่บ้านรวมไทย หมู่ 7 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นพบร่องรอยการต่อสู้กันเองของกระทิง โดยส่งตัวอย่างชิ้นเนื้อตรวจสอบสาเหตุการตายที่ชัดเจน คาดว่าจะทราบผลภายใน 1-2 สัปดาห์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง รอผลแล็บ "กระทิงกุยบุรี" ตายจากลัมปี สกิน? 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง