วันนี้ (25 ก.ค.2564) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการจัดส่งอาหาร 3 มื้อให้ผู้ป่วย COVID-19 กลุ่มสีเขียวในระบบการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน ยืนยันว่า การดำเนินการของ สปสช. มีเจตนาดี ซึ่งนอกจากจะติดตามอาการและรักษาแล้ว ผู้ติดเชื้อต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน การดูแลจึงต้องรวมบริการอาหาร 3 มื้อ
สปสช.จึงประสานกับบริษัทจัดส่งอาหาร ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยดูข้อเสนอและอัตราค่าบริการที่ดีที่สุด ตลอดจนความพร้อมบริการ ซึ่งจากการพิจารณาแต่ละผู้ประกอบการ ได้มีข้อเสนอจัดบริการแตกต่างกันไป
ในส่วนของบริษัท ฟู้ดแพนด้า (ไทยแลนด์) จำกัด ได้นำเสนอบริการที่ครบถ้วนตามการดูแลผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน คือ อาหาร 3 มื้อ พร้อมให้บริการจัดส่งถึงบ้านผู้ป่วยในราคา 300 บาท/คน/วัน โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายไปที่ รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช นอกจากนี้ยังมีความพร้อมบริการภายในเวลาที่กำหนด
ขณะที่ รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช รับติดตามดูแลเพื่อให้ผู้ติดเชื้อทุกคนสามารถเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน โดยจะติดตามเยี่ยมผู้ป่วยผ่านระบบวิดีโอคอล วันละ 2 ครั้ง แต่ในระยะเริ่มต้นได้ขอให้ สปสช.จัดส่งอาหารให้กับผู้ป่วย สปสช.จึงได้ประสานกับบริษัท ฟู้ดแพนด้าฯ ตามที่ได้มีการประสานความร่วมมือไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ บริษัท ฟู้ดแพนด้าฯ ทำสัญญากับ รพ.สิชล ในการส่งอาหารให้ผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของ รพ. เมื่อวันที่ 23 ก.ค. และได้เริ่มจัดส่งอาหารได้ในวันเดียวกัน
ดังนั้นขอยืนยันว่า ไม่ได้มีการผูกขาดแต่อย่างใด แต่ละ รพ./คลินิก สามารถเลือกบริษัทได้โดยอิสระ หรือแม้แต่จะประกอบอาหารส่งผู้ป่วยเองก็สามารถทำได้
พบคนทั่วไปนำรหัสของผู้ป่วยไปใช้สิทธิสั่งอาหาร
ทพ.อรรถพร ยังชี้แจงกรณีผู้ติดเชื้อในระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนไม่ได้รับจัดส่งอาหาร 3 มื้อ ว่า ตามระบบจะให้ผู้ป่วยดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฟู้ดแพนด้า และให้เลือกอาหารวันละ 1 ครั้ง จำนวน 3 มื้อไม่เกิน 300 บาท ก่อนกดสั่งจะต้องใส่รหัส e-Voucher Code เพื่อยืนยันว่าเป็นคนไข้ในโครงการการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน ซึ่งรหัสนี้เป็นรูปแบบ 1 คนต่อ 1 รหัส
แต่เนื่องจากทาง รพ.สิชล รับดูผู้ป่วยในระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนถึง 6,055 คน และต้องการให้ผู้ป่วยสามารถสั่งอาหารได้เลยในเย็นวันที่ 24 ก.ค. ทำให้ไม่สามารถส่งรหัสสั่งอาหารแบบ 1 คนต่อ 1 รหัสให้กับผู้ป่วยได้ทัน จึงใช้รหัสกลางคือ HMIS ในการยืนยันสั่งอาหาร โดยส่งทาง SMS ให้กับผู้ป่วย กำหนดเพดานสั่งไม่เกิน 7,000 รายการต่อวัน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการนำรหัส HMIS สำหรับให้ผู้ป่วย COVID-19 ในระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนของ รพ.สิชล ไปบอกต่อกัน บางคนนำไปโพสต์เฟสบุ๊กเพื่อบอกต่อ ทำให้คนที่ไม่ใช่ผู้ป่วยนำรหัสนี้ไปสั่งอาหาร และทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถสั่งอาหารได้และไม่ได้รับอาหาร เพราะมีการใช้สิทธิเต็มเพดาน แต่ผู้ที่สั่งอาหารจากรหัสนี้กลับเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย COVID-19 ในระบบ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์
ทั้งนี้ สปสช. ได้ระดมเจ้าหน้าที่มาดำเนินการส่งรหัสสั่งอาหารแบบ 1 คนต่อ 1 รหัสแล้ว โดยเร่งดำเนินการในส่วนผู้ป่วยที่เมื่อวานไม่ได้รับอาหารก่อน ซึ่งมีจำนวนเกือบ 1,600 คน
สปสช.ขอโทษประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยในระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนของ รพ.สิชล ที่ไม่ได้รับอาหารเมื่อวานนี้