วันนี้ (27 ก.ค.2564) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จากการที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ณ อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย จ.ตาก เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ทราบข้อมูลว่า ได้มีการค้นพบไม้กลายเป็นหินหลายต้น โดยต้นที่ 1 ที่ถูกค้นพบเมื่อปี 2546 มีความยาวมากที่สุด คือ 72.22 เมตร หรือเทียบเท่ากับความสูงของตึก 20 ชั้น อายุไม่ต่ำกว่า 120,000 ปี และจากการตรวจสอบพบว่า เป็น ต้นทองบึ้ง ซึ่งไม่มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน แต่จะพบมากในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางภาคใต้ของประเทศไทย และบริเวณคาบสมุทรมาลายู
จากการค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญ มีซากดึกดำบรรพ์ที่สามารถเป็นแหล่งศึกษาวิวัฒนาการของโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงกว่า 120,000 ปีที่ผ่านมาได้ รวมทั้งแสดงให้เห็นว่า ในอดีตพื้นที่ จ.ตาก เคยมีสภาพเป็นป่าดึกดำบรรพ์มาก่อน
รมว.ทส.ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันตรวจสอบสถิติข้อมูลไม้กลายเป็นหินที่ถูกบันทึกไว้ โดยพบว่า ไม้กลายเป็นหินที่มีความยาวที่สุดในโลกที่มีการบันทึกสถิติอยู่ในปัจจุบัน คือ ไม้กลายเป็นหินที่พบที่เมือง Qitai มณฑลซินเจียงของจีน มีความยาวเพียง 38 เมตร
กรมทรัพยากรธรณี จึงได้ประสานงานกับสำนักงานของ Guinness World Record ยื่นเอกสารขอบันทึกสถิติโลกใหม่ เพื่อบันทึกสถิติโลกไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกให้เป็นปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการยื่นข้อเสนอรับรองสถิติโลกอย่างเป็นทางการต่อไป
นายจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเตรียมการยื่นข้อเสนอรับรองสถิติโลก ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ และประชาชนในพื้นที่ จ.ตาก รวมไปจนถึงภาคธุรกิจเอกชน ที่ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณีของประเทศในครั้งนี้
เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย เพราะแต่ละชิ้นล้วนมีความสำคัญ บ่งชี้ถึงปัจจุบันและอนาคตได้ งานด้านการอนุรักษ์และคุ้มครองฯ จึงเป็นอีกงานที่สำคัญทางด้านธรณีวิทยาของไทย