ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

6 องค์กรสื่อ ยื่น จม.เปิดผนึก ถึงนายกฯ ขอยกเลิกข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

สังคม
30 ก.ค. 64
15:25
434
Logo Thai PBS
6 องค์กรสื่อ ยื่น จม.เปิดผนึก ถึงนายกฯ ขอยกเลิกข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 และฉบับที่ 29

วันนี้ (30 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายสุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย และนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯรัฐมนตรี ผ่านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 27 ข้อ 11 และข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตามมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่คุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน

โดยเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ตามที่ท่านได้ออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2564 และฉบับที่ 29 เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2564 ระบุข้อความว่า ในลักษณะเดียวกันว่า “การเสนอข่าวหรือการทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร” ตามความทราบแล้วนั้น

 

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ได้ปรึกษาหารือกันจนมีข้อสรุปว่า ถ้อยคำตามข้อกำหนดดังกล่าว สุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ข้อกำหนดดังกล่าว ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเอาผิดแม้เพียงแค่ “ข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยปราศจากหลักเกณฑ์หรือขอบเขตของการใช้อำนาจที่ชัดเจน ดังนั้น แม้ประชาชนและสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงหรือความจริงก็อาจถูกดำเนินคดีหรือคุกคามจากหน่วยงานของรัฐได้ เพียงเพราะใช้วิจารณญานว่าเป็นการทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว

2. ข้อกำหนดทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเนื้อหาแตกต่างจากข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันที่เคยมีการประกาศก่อนหน้านี้ในข้อกําหนดฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มี.ค.2563 ข้อ 6 ซึ่งระบุไว้ความชัดเจนว่า จะห้ามเสนอข่าวฯ ได้ ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และต้องเป็นการเสนอข่าวหรือทำให้เผยแพร่ข้อความอันไม่เป็นความจริง รวมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่ต้องเตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อน

 

3. ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลพร้อมทั้งขอให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนด และแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้มีการนำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับถูกเพิกเฉย อีกทั้งได้มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซ้ำอีกครั้ง โดยมีการขยายขอบเขตการใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนให้กว้างขวางออกไปอีก

ด้วยเหตุผลที่ระบุมาข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) รวมทั้งข้อกำหนดฉบับที่ 29 (ทั้งฉบับ) โดยทันที เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เลวร้ายลงไปอีก

ทั้งนี้ หากนายกรัฐมนตรียังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องตามจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร จะเพิ่มมาตรการในการกดดันให้รัฐบาลต้องพิจารณายกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งมาตรการทางด้านกฎหมายและมาตรการทางสังคมต่อไปจนถึงที่สุด

โฆษกรัฐบาลยืนยันไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ เพียงขอให้เสนอข้อมูลบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไม่สร้างความหวาดระแวงหรือความกังวลในสังคม รัฐบาลไม่มีเจตนาปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนวิชาชีพ พร้อมเชิญชวนสื่อมวลชนและองค์การสื่อวิชาชีพ ร่วมกับหน่วยประชาสัมพันธ์ภาครัฐในการแสวงหาพื้นที่กลาง เพื่อร่วมกันออกแบบกรอบการทำงานและเป็นช่องทางประสานความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งยังได้เพิ่มเติมให้มีการใช้ช่องทางโฆษกกระทรวง ซึ่งมีภาระหน้าที่ สื่อสารให้ข้อมูล อำนวยความสะดวกเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการติดต่อประสานข้อมูล ซึ่งมีความยินดีที่วันนี้สื่อมวลชนและรัฐบาลเห็นพ้องร่วมกัน มีความจำเป็นต้องสกัดกั้นข่าวปลอม เพราะข้อมูลที่ถูกต้องคือประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณและยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารที่ดีที่สุด ในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันในวันนี้ และจะสื่อสารไปยังนายกรัฐมนตรีด้วย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังยืนยันข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ที่ออกมาเป็นเพียงการปิดช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบัน ซึ่งมีข้อจำกัดในการบังคับใช้ เช่น จำเป็นต้องมีผู้ฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นต้น

นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์เพียงยกระดับการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสกัดกั้นการเผยแพร่ข่าวปลอมรวมทั้งการกระทำที่เป็นการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารด้วยความตั้งใจ ซึ่งไม่ได้เจาะจงหรือตั้งใจบังคับใช้กับสื่อมวลชนวิชาชีพ แต่เป็นที่รับทราบโดยทั่วไปว่ามีการสื่อสารสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้นำมาจากข้อเท็จจริง ซึ่งไม่สามารถควบคุมและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังคม ประชาชนเกิดความหวาดระแวงหรือความหวาดกลัว โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ในขณะนี้ ซึ่งหลายประเทศก็พบปัญหาการเผยแพร่ข้อความเท็จ/ข่าวปลอม จำนวนมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีให้นโยบายแก่หน่วยที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องระมัดระวัง เป็นธรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์

กังวลข้อกำหนดอาจนำไปสู่การปิดกั้นนำเสนอข่าว

ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เนื่องจากองค์กรวิชาชีพมีข้อห่วงใยและความวิตกกังวลในการที่ภาครัฐได้มีการออกประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 27 และข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรสื่อฯ ได้มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะข้อกำหนดฉบับที่ 29 ได้มีการปรับเนื้อหา

 

องค์การสื่อมองว่า หน่วยบังคับใช้กฎหมายอาจใช้เป็นโอกาสในการตีความเจตนารมณ์นำไปสู่การปิดกั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือการแสดงความเห็นของประชาชน จึงตัดสินใจยื่นหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีถึงข้อห่วงใยนี้ ที่ผ่านมา องค์การสื่อได้ทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอดทั้งกรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้ง ศปก. ศบค. อย่างใกล้ชิด ผ่านช่องทางไลน์อยู่แล้ว ขอยืนยันผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นด้วยกับรัฐบาล ที่สกัดกั้นข่าวปลอมไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

6 องค์กรสื่อ ขอรัฐยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชน-สื่อมวลชน

6 องค์กรสื่อ ระบุข้อกำหนด "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" กระทบเสรีภาพสื่อ-ประชาชน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง