ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หาคำตอบ บินโปรย "น้ำแข็งแห้ง" บรรเทาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างไร

ภัยพิบัติ
27 ม.ค. 68
11:07
859
Logo Thai PBS
หาคำตอบ บินโปรย "น้ำแข็งแห้ง" บรรเทาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชวนมาหาคำตอบ เทคนิค "โปรยน้ำแข็งแห้ง" ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ได้อย่างไร

ส่งท้ายเดือน "มกราคม 2568" หลายพื้นที่กำลังเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐาน กระทบสุขภาพประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่มีสภาพอากาศนิ่ง ทำให้ "ฝุ่นละออง" สะสมตัวในอากาศไม่ไปไหน

ภาพทิชชูเปื้อนเลือดที่ไหลออกจากรูจมูกเด็กตัวน้อย คาดเป็นผลกระทบจากฝุ่นจิ๋วปลุกกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งนโยบายล่าสุดที่รัฐบาลงัดออกมาบรรเทา คือ ให้ประชาชนขึ้นรถเมล์กับรถไฟฟ้าฟรี 7 วัน หากค่าฝุ่น PM 2.5 ยังไม่ลดจะมีการประเมินอีกครั้งถึงช่วงเวลาที่จะขยายออกไปอีก

ภาพจากเพจ Drama-addict

ภาพจากเพจ Drama-addict

ภาพจากเพจ Drama-addict

มาถึงตรงนี้เห็นได้ว่าเรื่องฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งแล้ว แต่หลายฝ่ายต้องช่วยกัน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมมือช่วยกันทั้งภาคพื้นดิน และบนท้องฟ้า เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว

หนึ่งในปฎิบัติการบรรเทาฝุ่น PM 2.5 คือ ภารกิจหลายพันฟุตเหนือพื้นดิน กับการบินเพื่อลดฝุ่นให้คลี่คลายในพื้นที่ที่พบ "ฝุ่นจิ๋ว" ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้วยเทคนิคการใช้ "น้ำแข็งแห้ง" หลายคนอยากรู้ถึงวิธีการว่าเป็นอย่างไร ทำไมภารกิจครั้งนี้ถึงไม่มี "ฝน" 

ภาพจาก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ภาพจาก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ภาพจาก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

อ่านข่าว : เริ่มแล้ว! ภารกิจบินสู้ฝุ่นพิษ PM 2.5 กทม.ฝุ่นพิษพุ่ง 3 เท่า

บินโปรย "น้ำแข็งแห้ง" คืออะไร ลดฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างไร 

ภารกิจบรรเทาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ที่ฝุ่นจิ๋วยังปกคลุมยังเดินหน้าขึ้นบินเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในหลายพื้นที่รวมถึง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปฎิบัติการครั้งนี้จะไม่ทำให้ "ฝนตก" แต่จะใช้เทคนิคการสเปรย์น้ำ และ โปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองต่อไปได้

ประเด็นนี้มีคำอธิบายจาก นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ ว่า เม็ดฝนมีขนาดใหญ่กว่าอนุภาคฝุ่น ซึ่ง PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ฉะนั้นฝนตกไม่ได้ช่วยให้ความเข้มของฝุ่นละอองลดลง ไม่เกาะฝุ่น แต่ครั้งนี้จะใช้วิธีการ ก่อเมฆ เลี้ยงเมฆ เพื่อดูดซับและระบายฝุ่น

"เทคนิคก่อเมฆ" หรือ "เลี้ยงเมฆให้อ้วน" เพื่อให้เมฆมีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้นในการดูดซับและระบายฝุ่นละอองออกจากพื้นที่เป้าหมาย
ผลการปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 พื้นที่กรุงเทพฯ -ปริมณฑล วันที่  26 มกราคม 2568 เทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการสเปรย์น้ำปรับลดอุณหภูมิเพื่อระบายฝุ่นละออง - โปรยน้ำแข็งแห้งเพื่อระบายฝุ่น

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 พื้นที่กรุงเทพฯ -ปริมณฑล วันที่ 26 มกราคม 2568 เทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการสเปรย์น้ำปรับลดอุณหภูมิเพื่อระบายฝุ่นละออง - โปรยน้ำแข็งแห้งเพื่อระบายฝุ่น

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 พื้นที่กรุงเทพฯ -ปริมณฑล วันที่ 26 มกราคม 2568 เทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการสเปรย์น้ำปรับลดอุณหภูมิเพื่อระบายฝุ่นละออง - โปรยน้ำแข็งแห้งเพื่อระบายฝุ่น

ปฏิบัติการบรรเทาฝุ่นในครั้งนี้ใช้เทคนิคระบายฝุ่นก่อนเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย และระบายฝุ่นออกจากพื้นที่เป้าหมายด้วยเทคนิค "การลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน" หรือ "Inversion" ด้วยการสเปรย์น้ำปรับลดอุณหภูมิและการโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อระบายฝุ่นละอองให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น วิธีการบินโปรย 2 รูปแบบคือ การโปรยวนก้นหอยแหวกช่องให้ฝุ่น และบินโปรยลักษณะสลับฟันปลาให้ได้เชิงพื้นที่

อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ ปกติในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นจะมีอากาศจะเย็นลงเรื่อย ๆ แต่จะมีจุดหนึ่งที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น เรียกว่า อุณหภูมิผกผัน ซึ่งการเกิดอุณหภูมิผกผันนี้จะเป็นตัวกั้นฝุ่นไม่ให้ลอยขึ้นเหมือนฝาชีครอบไว้

"น้ำแข็งแห้ง" ในภารกิจบินลดฝุ่น ถูกนำมาใช้ในเทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศบริเวณชั้นอุณหภูมิผกผัน โดยการโปรยด้วยเครื่องบินเป็นรูปก้นหอย เพื่อเปิดช่องระบายให้ฝุ่นขนาดเล็กลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน ช่วยให้ฝุ่นระบายออกและลดความหนาแน่นลงได้ 

น้ำแข็งแห้ง คือ สารฝนหลวง สูตร 3 (น้ำแข็งแห้ง: CO2 (s)) เป็นสูตรที่ใช้ในการทำฝน นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยจึงนำมาประยุกต์ใช้ ใช้น้ำแข็งแห้งเป็นตัวทำให้เกิดชั้นอากาศฟิล์มความร้อนให้เกิดช่องว่าง โดยน้ำแข็งแห้งมีอุณหภูมิประมาณ -70 องศาเซลเซียส ไปทำลายอุณหภูมิที่สูงขึ้นและทำให้เกิดช่อง

สำหรับ ปฎิบัติการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะทำการบินทุกวันในช่วงเช้าตั้งแต่ 10.00 น. และช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 14.00 น. ใช้เวลาบินประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง 

ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำการบินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีการบูรณาการร่วมกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ในการกำหนดชั้นความสูง และกำหนดพื้นที่เพื่อทำปฏิบัติการลดฝุ่น ซึ่งบางจุดต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการบินของเครื่องบินเชิงพาณิชย์ชั่วคราว เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงได้อย่างปลอดภัย

ภาพจาก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ภาพจาก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ภาพจาก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ปฏิบัติภารกิจบรรเทาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่ท่าอากาศยานหัวหินหรืออีกชื่อคือสนามบินบ่อฝ้าย ซึ่งมีโครงการบินลดฝนในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน ศูนย์ปฏิบัติการฯ มีทั้งหมด 6 ศูนย์ ทั่วประเทศ สำหรับกรุงเทพฯ มีจำนวน 3 ศูนย์ ที่ หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และกาญจนบุรี จำนวนเครื่องบินที่สนับสนุนลดฝุ่น กทม. รวม 10 เครื่อง

นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะปรับแผนการทำงานเพิ่มเติมในเวลากลางคืน โดยได้ทำหนังสือขออนุญาตบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ขึ้นบินปฏิบัติการในช่วงเวลา 02.00-05.00 น. เพื่อช่วยเหลือพื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑล ซึ่งจะพิจารณาวางแผนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด เพื่อสุขภาพของประชาชน เบื้องต้นจะบิน 10.00 น. บ่าย 2 และ ตี 2 

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เดินหน้าปฎิบัติบรรเทาฝุ่นละอองขนาดเล็ก จะมีต่อเนื่องทุกวันจนสถานการณ์คลี่คลาย 

หลังวันที่ 29 ม.ค.นี้ กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า พื้นที่ กทม.-ปริมณฑล อาจต้องเฝ้าระวังอีกครั้งเนื่องจากอัตราการระบายอากาศที่ต่ำลง แต่ประเมินแล้วจะไม่รุนแรงเท่าสัปดาห์ก่อน

อ่านข่าว : วันนี้ 60 จว.ฝุ่นเกินมาตรฐาน คาด 1-2 วันข้างหน้าแนวโน้มฝุ่นเพิ่มขึ้น

"นายกฯ" สั่ง "คมนาคม" ให้ประชาชนขึ้น "รถไฟฟ้า - รถ ขสมก." ฟรี 7 วัน พรุ่งนี้

ป่วยฝุ่นพิษ 3 สัปดาห์ 144,000 คน เตือน 5 จว.จมฝุ่น 4 วันติด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง