ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ซิโนแวค! ม้ามืดด่านหน้าสู้โควิด วัคซีนแอสตราฯ-ไฟเซอร์มาไม่ทัน

สังคม
19 ส.ค. 64
14:23
4,516
Logo Thai PBS
ซิโนแวค! ม้ามืดด่านหน้าสู้โควิด วัคซีนแอสตราฯ-ไฟเซอร์มาไม่ทัน
กางสถิติคนไทยฉีดวัคซีน COVID-19 จำนวน 24 ล้านคน พบภาพรวมฉีดซิโนแวค 11 ล้านโดส รองลงมาแอสตราเซเนกา 10 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 2 ล้านโดส และไฟเซอร์ กว่า 3 แสนโดส ท่ามกลางไวรัสกลายพันธุ์ตามหาวัคซีนหลักแอสตราเซเนกาที่สั่งซื้อ 61 ล้านโดส

หลังจากรัฐบาลมีมติจัดซื้อวัคซีน COVID-19 "ซิโนแวค" เพิ่มอีก 12 ล้านโดส ไม่เพียงให้คนในโซเชียลตั้งคำถามถึงวัคซีนหลักตัวอื่นที่รัฐบาลเคยประกาศจะนำมาฉีดให้กับคนไทย เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์การระบาด COVID-19 ในไทย 

ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และสปุตนิก-วี ที่มีการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไว้ทั้งหมดแล้ว 

แต่หลายคนยังตั้งคำถามถึงประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวค ที่กำลังถูกผลักดันให้เป็น "พระเอก" เป็นด่านหน้าในการหยิบมาใช้ต่อสู้กับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 กลายพันธุ์ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ของเดือนเม.ย.นี้เกือบจะ 1 ล้านคนแล้ว 

ไทม์ไลน์นำเข้า-แผนกระจายวัคซีนอยู่ที่ไหนบ้าง?

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ไล่เรียงไทม์ไลน์ นับตั้งแต่วันแรกของการปักหมุดฉีดวัคซีน COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-17 ส.ค.นี้ คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 24,100,631โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 18,726,405 คน เข็มที่ 2 จำนวน 5,381,676 คน และเข็มที่ 3 จำนวน 501,668 คน (ข้อมูลจากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) 

"รัฐสามารถจัดหาวัคซีนให้กับประชากรในประเทศได้ทุกคนอย่างแน่นอน และจะไม่หยุดการจัดหาและสำรองใช้เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน จากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ว่าจะต้องหาให้ได้ 100 ล้านโดส สำหรับประชากร 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ได้สั่งการให้ขยายเป้าหมายเพิ่มเติมออกไปอีกเป็นอย่างน้อย 150 ล้านโดส เชื่อมั่นว่าจะจัดหาได้ครบถ้วนอย่างแน่นอน"

ถ้อยคำสัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ระบุว่า วัคซีน “วาระแห่งชาติ” ของไทย เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564

สอดคล้องกับมติการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชนไทย ครั้งที่ 7/2564 เมื่อ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการจัดหาวัคซีนในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ เพื่อนำมาใช้ในช่วงที่ระยะเวลาที่วัคซีนมีจำกัดเพิ่มเติม

เนื่องจากปัญหาสายพันธุ์เดลตา ที่วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้น้อย จึงควรเร่งการฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มความครอบคลุม ในทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต้องได้วัคซีน 100 ล้านโดสในปี 2564

นั่นหมายความว่านับถอยหลังอีกเพียง 134 วัน กับเป้าหมาย 100 ล้านโดสในสิ้นปี 64

อ่านข่าวเพิ่ม นายกฯ ประกาศฉีดวัคซีน COVID-19 เป็น "วาระแห่งชาติ"

ม้ามืด "ซิโนแวค" 12 ล้านโดส-ฉีดกระตุ้นภูมิดีกว่า

จากข้อมูลพบว่าวัคซีนที่นำมาฉีดให้คนไทยในช่วงแรกๆ คือ "ซิโนแวค" ที่ได้รับบริจาคจากประเทศจีน โดยเริ่มส่งล็อตแรก 1 ล้านโดส มาถึงไทยเมื่อ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ผ่านทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จากนั้นรัฐบาลไทยจัดหา และจองวัคซีนซิโนแวคแล้วรวมทั้งหมด 19.5 ล้านโดส (ข้อมูลวันที่ 30 มิ.ย.) นำเข้ามาแล้ว 9.5 ล้านโดส

ปัจจุบันรับมอบมาแล้ว 13.4 ล้านโดส และได้รับรับบริจาค 1 ล้านโดส รวม 14.4 ล้านโดส ไทยสั่งซื้อตามสถานการณ์ อยู่ระหว่างรับเพิ่มอีก 5.7 ล้านโดสในเดือน ส.ค.-ก.ย.2564

สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รายงานอัตราการฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว จำนวน 11,399,459 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 7,949,935 โดส และเข็มที่ 2 3,449,518 โดส

 

ขณะที่การสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค 12 ล้านโดส ซึ่งกำลังเป็นข้อวิจารณ์ในช่วง 2-3 วันนี้ทำให้ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ชี้แจงเหตุผลที่รัฐบาลมีแผนจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค เพิ่มอีก 12 ล้านโดส โดยระบุว่า เพื่อเตรียมวัคซีนให้เพียงพอจากการที่ Johnson & Johnson ไม่สามารถนำเข้ามาได้ตามกำหนดเวลา และปริมาณแอสตราเซเนกา อยู่ที่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน

ขณะที่ต้องมีปริมาณวัคซีนให้เพียงพอ 10-15 ล้านโดสต่อดือน จึงต้องสั่งซิโนแวค และไฟเซอร์เพิ่มในไตรมาส 4 ของปี 2564

ส่วนการฉีดวัคซีนสูตร ซิโนแวค ตามด้วยแอสตราเซเนกา มีผลการศึกษาแล้ว ว่ามีภูมิคุ้มกันมากกว่า ฉีด ซิโนแวค 2 เข็มหรือ แอสตราเซเนกา 2 เข็ม 3 เท่า และใช้เวลาฉีดครบ 2 เข็มเร็วกว่า ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา ใช้เวลา 3 สัปดาห์ ส่วนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ใช้เวลา 10–12 สัปดาห์

แอสตราเซเนกา วัคซีนหลักที่หายไป?

หากย้อนไปถึงการระบาดของ COVID-19 ช่วงปี 2563 คนไทยรับรู้ข้อมูลจากภาครัฐว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาจะเป็นวัคซีนหลัก จากการที่รัฐบาลไทยเริ่มลงนามจัดซื้อจัดหาวัคซีนในเดือนพ.ย.2563 โดยมีเป้าหมายจัดซื้อทั้งหมด 61 ล้านโดส  

• 17 พ.ย.2563 ครม.เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนฯ โดยการจองล่วงหน้า (AZ) 26 ล้านโดส
• 27 พ.ย.2563 ลงนามในสัญญา 3 ฝ่าย (AstraZeneca Thailand, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, กรมควบคุมโรค)
• 5 ม.ค.2564 ครม.เห็นชอบให้สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส

แต่ในความเป็นจริง เริ่มพบปัญหาวัคซีนแอสตราเซเนกา ไม่สามารถจัดส่งให้ไทยตามแผนที่วางไว้ ซึ่งเรื่องนี้นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นผู้ที่ออกมาเฉลียว่า "แอสตราเซเนกา" ขยายเวลาส่งวัคซีน 61 ล้านโดสให้ไทยจากเดิม ธ.ค.64 จนถึงเดือน พ.ค.65 และนั่นทำให้เกิดที่มาของการเสนอชงเสนอฉีดวัคซีนสลับชนิดให้ศบค.พิจารณาในวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา

อ่านข่าวเพิ่ม "สาธิต" ปูดแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส เลื่อนส่งครบ พ.ค.65

 

ภาพรวมแม้กรมควบคุมโรคได้เจรจากับบริษัทแอสตราเซเนเกา ขอให้จัดส่งวัคซีนให้กับประเทศไทย จำนวน 6 ล้านโดส ในเดือน มิ.ย.และจำนวน 10 ล้านโดสในเดือนต่อๆ ไป จนครบ 61 ล้านโดส

แต่ปัจจุบันเพิ่งมีการส่งมอบแอสตราเซเนกาให้ไทยแล้ว 14.7 ล้านโดส และได้รับบริจาค 1.46 ล้านโดส รวม 16.16 ล้านโดส 

สอดคล้องกับข้อมูลจากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รายงานอัตราการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาไปแล้ว 10,255,294 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน  8,911,490 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 1,146,293 โดส และเข็มที่ 3 จำนวน 197,511 โดส

อ่านข่าวเพิ่ม เบรกจัดซื้อ! นายกฯ สั่งเร่งหาชุดตรวจ ATK ที่ WHO รับรอง

ไฟเซอร์-ซิโนฟาร์มเริ่มฉีดใคร

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ปัจจุบันได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดส ล็อตบริจาคจากสหรัฐอเมริกา และอยู่ระหว่างไทยสั่งจองแล้ว 20 ล้านโดส มีกำหนดส่งช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ไม่รวมกับมีแผนได้รับบริจาคอีก 1 ล้านโดสซึ่งเริ่มนำไปฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทยด่านหน้า และกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่ต้นส.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งหมดจำนวน 329,146 โดส

แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 80,436 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 24,664 โดส และเข็มที่ 3 จำนวน 303,966 โดส

โดยวันนี้ยังมีการนำวัคซีนไฟเซอร์บางส่วนเริ่มฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มอายุ 12-18 ปี และกลุ่มสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปที่จะได้รับการฉีดไฟเซอร์วันแรก (19 ส.ค.) 

ขณะที่ซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้าในฐานะวัคซีนทางเลือก ล็อตแรกเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้มีการจัดสรรให้แก่องค์กรเอกชนที่แจ้งความประสงค์จัดสรรวัคซีนกว่า 5,000 องค์กร กลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มเปราะบางทางสังคม พระภิกษุสงฆ์ 

นำเข้าซิโนฟาร์มเพิ่มเป็น 10 ล้านโดส  

เพจเฟซบุ๊กโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สรุปการให้บริการวัคซีนซิโนฟาร์ม (ข้อมูลวันที่ 13 ส.ค.) วัคซีนเข้าประเทศไทยแล้ว 5 ล้านโดส ตั้งแต่ 22 มิ.ย.-13 ส.ค.และรอนำเข้าอีก 5 ล้านโดส (15 ส.ค.-31 ส.ค.) ยอดรวม 10 ล้านโดส

ภาพรวมจำนวนวัคซีนที่จัดสรรแล้ว 9,841,396 โดส รอจัดสรรให้ พอสว.จังหวัดต่างๆ อีกประมาณ 100,000 โดส โดยมีตัวฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มทั้งหมด 2,225,033 โดส แบ่งเข็มที่ 1  จำนวน  1,615,315 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 609,718 โดส

นอกจากนี้ยังมีจำนวนวัคซีนจัดสรรแล้วรอฉีดอีก 2,431,443 คน แบ่งเป็น องค์กรนิติบุคคล จำนวน 234,334 คน อปท. จำนวน 2,042,820 คน และบุคคลทั่วไป 154,289 คน 

ทั้งนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดสรรวัคซีนบริจาค 10% คืนให้กับกลุ่ม อปท. และโรงพยาบาล เพื่อนำไปฉีดให้กับกลุ่มเปราะบาง 5 กลุ่มตามที่กำหนด เปิดลงทะเบียนยื่นขอรับการจัดสรร ตั้งแต่วันที่ 23 -27 ส.ค.นี้

 

ขณะที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รายงานการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มไปแล้วจำนวน 2,036,818 โดส เข็มที่ 1 จำนวน 1,429,136 โดส และ เข็มที่ 2 จำนวน 607,682 โดส

ส่วนวัคซีนโมเดอร์นา องค์การเภสัชกรรม และสภากาชาดไทย มีแผนนำเข้า 5 ล้านโดส โดยมีกำหนดส่งมอบปลายปี 2564 ส่วนวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน บริษัทขอเลื่อนลงนามสัญญาด้วยพบปัญหาการผลิต ขณะที่สปุตนิก วี รอขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

อ่านข่าวเพิ่ม

สธ.เผยปี 64 ไทยจัดหาวัคซีนโควิดได้ 100 ล้านโดส

สธ.เปิดฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 2 ศูนย์ฉีดบางซื่อที่ รพ.ใกล้บ้าน

ติดโควิดเพิ่ม 20,902 คน เสียชีวิต 301 คน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง