วันนี้ (23 ส.ค.2564) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนประชาชนที่นำ "แอลกอฮอล์" ฉีดใส่ข้าวหรืออาหาร เพื่อต้องการฆ่าเชื้อและป้องกันโควิด-19 "เป็นความเชื่อที่ผิด และไม่สมควรทำ"
ข้อมูลจาก อย. ระบุว่า เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี สามารถระเหยได้ และไวไฟสูง มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เชื้อโรคและไวรัสได้
เอทิลแอลกอฮอล์แบบ Food Grade ผ่านการรับรอง สามารถนำมาใช้สำหรับการบริโภค หรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้ โดยอนุญาตให้ใช้เป็นสารช่วยในการผลิตวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งอาจจะมีเหลือตกค้างในผลิตภัณฑ์โดยไม่ตั้งใจ แต่ในปริมาณน้อยมาก ไม่ได้นำมาใช้บริโภคในลักษณะเป็นส่วนประกอบของอาหาร (ไม่รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
ไม่แนะนำให้ฉีด "แอลกอฮอล์" ใส่ข้าวโดยตรง
น.ส.อรสุรางค์ ธีระวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาหาร กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์กับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า แอลกอฮอล์มีหลายชนิด แต่ที่มีการใช้มากจะเป็นกลุ่มเอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล
ปัจจุบันมีการผลิตเอทานอลหลายเกรด ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและความบริสุทธิ์ และวัตถุประสงค์การใช้ที่แตกต่างกัน ส่วนเกรดของอาหาร หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ที่เป็น Food Grade จะต้องผลิตให้ได้คุณภาพตามเกณฑ์ของ The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives (JECFA) ซึ่งเป็นคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารและเกษตร และองค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ ด้านวัตถุเจือปนอาหาร
ผู้ที่จะผลิตหรือนำเข้าเอทิลแอลกอฮอล์ เพื่อใช้กับอาหาร ต้องผลิตให้ได้คุณภาพตามที่ JECFA กำหนด ซึ่ง อย.จะยึดตามหลักสากล ต้องได้รับอนุญาตทะเบียนตำรับอาหารตามวัตถุประสงค์ในการใช้เป็น Extraction Solvent หรือสารทำละลายที่ช่วยในการสกัด
แต่การนำมาใช้ตรงๆ กับอาหาร เช่น การพ่นใส่อาหาร เป็นวิธีการใช้ที่ อย. ไม่อนุญาต
เพราะฉะนั้นที่มีความเข้าใจผิด และนำไปพ่นใส่อาหารเพื่อฆ่าเชื้อ ทำไม่ได้ ไม่สมควรทำ และไม่แนะนำให้ทำ
ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาหาร กองอาหาร อย. ย้ำว่า ปัจจุบัน อย.ยังไม่อนุญาตให้ใช้แอลกอฮอล์มาเป็นสารฆ่าเชื้อในอาหาร
นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า พบการติดเชื้อโควิด-19 จากการกินอาหารที่ปนเปื้อน อีกทั้งเชื้อโควิด-19 ถูกทำลายได้จากสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของคลอรีน กรดเปอร์อะซิติก คลอโรฟอร์ม แอลกอฮอล์ 75% หรือความร้อนที่ 132.8 องศาฟาเรนไฮด์ (56 องศาเซลเซียส) ต่อเนื่อง 30 นาที ซึ่งความร้อนที่ใช้ในการหุงข้าวสารให้สุกก็เพียงพอที่จะทำลายเชื้อไวรัสได้
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556