ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วังวนหนี้สินชาวนา

เศรษฐกิจ
26 ส.ค. 64
12:33
1,565
Logo Thai PBS
วังวนหนี้สินชาวนา
ปัญหาหนี้สินนั้นเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับเกษตรกรไทยมาช้านาน หลายคนก็ยอมรับว่า เมื่อขายผลผลิตได้ สิ่งเเรกที่ต้องทำคือ การจ่ายหนี้

ช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยว คุณลักขณา หมานระเด่น ลงพื้นที่ไปคุยกับ ชาวนาเจ้าของนา คือคุณเตือนใจ พันธุ์ประเสริฐ ที่กำลังเกี่ยวข้าว ได้เงินเเน่ๆ เเต่เงินที่ได้ต้องนำไปจ่ายหนี้ก่อน เธอมีหนี้หลักเเสนบาท เเต่กว่าจะมีวันเก็บเกี่ยว คุณเตือนใจต้องลงทุน ทั้ง
เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยยา น้ำมัน ค่าแรงต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นทุนที่สูง

ชาวนาอีกคน คือคุณอรพิน รอนอาลี ชาวนาตำบลคลอง 12 เขตหนองจอก เขาบอกว่าเขาก็กู้เงินมาลงทุน เมื่อหักต้นทุนแล้วแทบจะไม่เหลือ แต่มีหนี้สิน ธ.ก.ส.ที่กู้มาลงทุนปลูกข้าวเกือบ 4 แสนบาท จึงขอผ่อนจ่าย ธ.ก.ส เป็นรายเดือนโดยอาศัยเงินเดือนของลูกช่วยผ่อน

เเล้วที่ชาวนา บอกว่า ปัจจัยการผลิตเเพง เราลองไปคุยกับ เจ้าของร้านขายปัจจัยการผลิต เขตหนองจอก ยอมรับว่าราคาปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนเกษตรกรเพิ่มขึ้น เวลาเกษตรกรซื้อ ก็เป็นรอบ ไม่ค่อยมีใครซื้อไปตุนเก็บไว้

นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า ชาวนาส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สิน เนื่องจากไม่มีทุน การปลูกข้าวแต่ละรอบต้องใช้เงินลงทุน คนที่กู้ ธ.ก.ส.ได้ ยังคงกู้ต่อ แต่ต้องจ่ายของเก่าก่อนจึงกู้ใหม่ได้ ส่วนคนที่กู้จนเต็มเพดาน พบว่าต้องไปกู้นอก
ระบบมาใช้จ่าย

ตอนนี้ชาวนามีหนี้เท่าไหร่ มีข้อมูลจาก ธ.ก.ส. ในยุคโควิด-19 หนี้สินเกษตรกรสูงขึ้น ปี 62 ค่าเฉลี่ย 2 แสน 2 หมื่นบาท ปีนี้ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2 เเสน 6 หมื่นบาท ส่วนใหญ่กู้ไป ค่าปัจจัยการผลิต ค่าแรงงาน ค่าซ่อม ซื้อ เครื่องจักรเกษตร ค่าเช่ารายได้และหนี้สินไม่สมดุลกัน

เเละเจ้าหนี้รายใหญ่ ของชาวนา คือ ธ.ก.ส.ที่ได้ออกมาตรการมาบรรเทาภาระหนี้ เริ่มตั้งแต่ขยายเวลาการชำระ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ พักหนี้แทบทุกกลุ่มในการระบาดรอบแรก การระบาดรอบถัดมา เน้นพักหนี้ในพื้นที่เสี่ยงสูง และทำต่อเนื่องมาจนถึงการระบาดรอบล่าสุด

มาตรการล่าสุดเป็นการพักหนี้ โดยสมัครใจ มีสิทธิ์ร่วมโครงการกว่า 3 ล้านราย ต้นเงินกว่า 1 ล้านล้านบาทล่าสุดมีผู้สมัครเข้าโครงการกว่า 3 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย

ธ.ก.ส. บอกว่า ก็ต้องมีโครงการพักชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรลดลง

ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากหนี้ที่กู้มาลงทุนเท่านั้น แต่มาจากหลายปัจจัย ทั้งกลไกราคา ภัยพิบัติ ซึ่งล้วนเป็นเหตุให้เกษตรกรไม่หลุดพ้นจากการเป็นหนี้

คงจะไม่ใช่เเค่พักหนี้ เท่านั้นที่จะช่วยเกษตรกร หรือชาวนาได้ ต้องมีปัจจัยอื่นด้วย ชาวนาจึงต้องการให้รัฐดูแลราคาข้าวให้อยู่ระดับที่เหมาะสม การพักหนี้ และดูแลปัจจัยการผลิตให้ถูกลง เพราะขณะนี้ทุนการผลิตต่อไร่อยู่ที่เกือบ 4,000 บาท แต่ราคาข้าวกลับขายได้เพียงตันละ 5,800-6,000บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง