ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เร่งถอดรหัส "จารึกบนแผ่นอิฐ" โบราณสถานวัดส้มสุก

Logo Thai PBS
เร่งถอดรหัส "จารึกบนแผ่นอิฐ" โบราณสถานวัดส้มสุก
กรมศิลปากร พบหลักฐานยืนยันอิทธิพลวัฒนธรรมสุโขทัยเมื่อ 600 ปีก่อนที่วัดส้มสุก จ.เชียงใหม่ หลังพบโบราณสถาน รวมทั้งเพิ่งพบพระพิมพ์เนื้อชินมีจารึกคาถาจะภะกะสะ รวมทั้ง "จารึกบนแผ่นอิฐ" กว่า 200 แผ่น เร่งถอดรหัสต่อจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์

วันนี้ (1 ก.ย.2564) นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สำนักศิลปากรที่ 7 จ. เชียงใหม่ ได้รายงานผลการขุดแต่งทางโบราณคดีโบราณสถานวัดส้มสุก ต.มะลิกา อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ แหล่งโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดในแอ่งที่ราบฝาง พบหลักฐานยืนยันอิทธิพลวัฒนธรรมสุโขทัย ที่แพร่หลายเข้าสู่ดินแดนล้านนาโบราณเมื่อกว่า 600 ปีมาแล้ว

ทั้งนี้ จากการเริ่มขุดแต่งมาตั้งแต่ปี 2558 มีโบราณสถานที่ดำเนินการขุดค้นแล้ว ได้แก่ เจดีย์ประธานทรงระฆังมีช้างล้อมรอบฐาน วิหารขนาดใหญ่ ซึ่งพบร่องรอยการปฏิสังขรณ์ 3 ครั้ง ซุ้มประตูโขงและอาคารใหญ่น้อยอีกประมาณ 10 หลัง

รวมทั้งพบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ พระพิมพ์เนื้อชินมีจารึกคาถาจะภะกะสะ ซึ่งเป็นคาถาที่ปรากฏในคัมภีร์วิชรสารัตนสังคหะ รจนาโดย พระรัตนปัญญาเถระภิกษุในนิกายวัดสวนดอกเมื่อ พ.ศ.2078 

นอกจากนี้ ยังพบจารึกอักษรฝักขามบนแผ่นอิฐหน้าวัวและอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทั้งที่จารเป็นอักษร 1-2 ตัว และเป็นข้อความหรือภาพลายเส้นเป็นลวดลายต่างๆกว่า 200 ก้อน จนอาจกล่าวได้ว่าวัดส้มสุกเป็นวัดที่มีจารึกมากที่สุดในประเทศไทย
ภาพ:กรมศิลปากร

ภาพ:กรมศิลปากร

ภาพ:กรมศิลปากร

เร่งขุดค้นเพิ่มต่อจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ 

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เบื้องต้น นักโบราณคดีได้จำแนกจารึกบนก้อนอิฐที่พบออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เขียนเป็นข้อความ ส่วนใหญ่ระบุชื่อบุคคลที่อาจหมายถึงผู้ปั้นหรือผู้บริจาคอิฐก้อนนั้นๆ

และกลุ่มที่เขียนเป็นตัวอักษร 1-2 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่พบบนอิฐหน้าวัว ที่ประกอบกันเป็นเสาอาคารมีข้อสังเกตว่าในเสาต้นเดียวกันส่วนใหญ่จะเป็นการจารึกตัวอักษรตัวเดียวกัน

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการให้รหัสสำหรับการก่อสร้าง หรือเทคนิคการผลิต หรืออาจหมายถึงกลุ่มบุคคล กลุ่มข้าวัด หัววัด หรือศรัทธาวัดแต่ละหมู่บ้าน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันซ่อมสร้างวัดโบราณแห่งนี้ขึ้น

จารึกทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ ซึ่งจะมีสรุปรายงานผลการศึกษาทั้งหมดอย่างเป็นทางการต่อไป
ภาพ:กรมศิลปากร

ภาพ:กรมศิลปากร

ภาพ:กรมศิลปากร

 

การขุดแต่งโบราณสถานวัดส้มสุก เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและชุมชน ในตำบลมะลิกา ที่ต้องการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของท้องถิ่น โดยในปีงบประมาณเดียวกันนี้ กรมศิลปากรยังได้อนุมัติงบเพิ่มอีก 1.1 ล้านบาท เพื่อขุดค้นและดำเนินการทางโบราณคดีให้ครบถ้วน เพื่อขยายผลการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

 

ภาพ:กรมศิลปากร

ภาพ:กรมศิลปากร

ภาพ:กรมศิลปากร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง