กระแสข่าวไกด์หาดใหญ่เสียชีวิต 9 คน เพราะพิษ COVID-19 สร้างความตกใจและกลายเป็นคำถามคาใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงหรือ ไทยพีบีเอสออนไลน์ต่อสายตรงถึง “โตหอง แซ่หลี่” นายกสมาคมมัคุเทศก์อาชีพ จ.สงขลา เพื่อตรวจสอบ และได้รับคำตอบว่า “ไม่มีหลักฐานและข้อมูลยืนยันว่า คำกล่าวอ้างนั้นเป็นความจริง จากข้อมูลที่ได้รับมามีคนพยายามตาย แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีคนตาย”
บทสนทนาสั้น ๆ กลับสะท้อนความเจ็บช้ำของอาชีพไกด์ที่กำลังจมอยู่ใต้คลื่น COVID-19 มา 4 ระลอกได้อย่างแจ่มชัด ปัญหาที่เผชิญมากว่า 2 ปี ไม่ใช่เรื่องที่จะใช้คำว่า “คิดสั้น” มาตัดสินได้เลยแม้แต่น้อย
ข้อมูลจาก คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จ.สงขลา บอกชัดเจนถึงวิกฤตที่คืบคลานเข้ามาตั้งแต่ COVID-19 ระลอกแรก สถิติท่องเที่ยว จ.สงขลา ช่วง ต.ค.2562 – ก.ย.2563 มีรายได้ 35,184.86 ล้านบาท ลดลง 36,510.81 ล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 3 ล้านคน ตัวเลขนี้เป็นช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 5 เดือน ติดต่อกัน ตั้งแต่ เม.ย.2563 เป็นต้นมา
ทำทุกทางสู้วิกฤตโควิด จากเงินหมื่นเหลือ 0 บาท
เมื่อนักท่องเที่ยวลดลง รายได้ของอาชีพไกด์ก็หายไปพร้อมกัน “พนิดา” หรือ จู วัย 35 ปี ยึดอาชีพไกด์ใน จ.สงขลา หาเลี้ยงชีพมานานกว่า 10 ปี รับทั้งคนไทยเที่ยวไทย คนต่างชาติเที่ยวไทย และคนไทยเที่ยวต่างประเทศ แต่วิกฤต COVID-19 ทะยานเข้ามาปิดตายทุกช่องทางทำกิน จนต้องนำเงินทุนไปขายทุเรียน
แม้จะขาดทุนบ้างแต่พนิดา ย้ำว่า “ดีกว่าอยู่เฉย ๆ คุยกับกำแพง” ด้วยนิสัยส่วนตัวคนทำอาชีพไกด์เป็นคนไม่หยุดนิ่ง ชอบเดินทางและพูดคุย แต่มาวันนี้ทุกอย่างกลับว่างเปล่า เหมือนกำลังจมน้ำในบ่อขนาดใหญ่ที่ลากไปสู่อาการป่วยโรคซึมเศร้าอย่างไม่รู้ตัว
เราใช้ชีวิตบนรถบัสมาตลอด 10 ปี แต่มาวันนี้ต้องคุยกับกำแพงบ้าน เราเคยทำงานทั้งเดือน พักแค่ 4 วัน ค่าจ้างตกวันละ 1,500 บาท ไม่รวมทิป ผ่อนบ้านเดือนละ 20,000 บาทได้สบาย แต่วันนี้กลายเป็น 0 บาท
แซนด์บ็อกซ์-เปิดประเทศรายได้ไม่ถึงมือไกด์
“ด่านนอกแซนบ็อกซ์” ที่จะหยิบยกโมเดล "ภูเก็ตแซนด์บ็อก" มาปรับใช้กลายเป็นความหวังของไกด์เมืองท่องเที่ยว แต่บทเรียนจากไกด์ใน จ.ภูเก็ต ก็เหมือนจะทำให้ความหวังนั้นเลือนลาง
"มะห์" ย้ายจากกรุงเทพมหานครไปลงหลักปักฐานที่ภูเก็ต หาเลี้ยงตัวเองและแม่ด้วยอาชีพไกด์เน้นรับนักท่องเที่ยวอินโดนีเซียด้วยสกิลภาษาที่ได้รับมาจากเจ้าของภาษาโดยตรง
ไกด์อินโดนีเซียได้รับผลกระทบระลอกแรก จากเที่ยวบินตรงอินโดนีเซีย-ภูเก็ต หายไป ก่อนจะถูกซ้ำเติมด้วย COVID-19 ช่วงโลวซีซั่นของภูเก็ต เป็นโอกาสทองของไกด์อินโดนีเซีย ที่จะรับนักท่องเที่ยวเอเชีย ที่เข้ามาจนล้นทะลัก
ภาพออกจากบ้านไปทำงานตั้งแต่ 05.00 น. กลับถึงบ้านเที่ยงคืน ช่วง 10 วันหยุดยาวของอินโดนีเซีย ที่ทำงานไม่ได้พัก กลายเป็นเสี้ยวหนึ่งในความทรงจำของหญิงวัย 48 ปีคนนี้
ช่วงที่ภูเก็ตไม่มีงานให้ทำ "มะห์" เลือกเดินทางไปเป็นไกด์ที่หาดใหญ่เพราะเป็นช่วงนักท่องเที่ยวมาก ทำให้ขาดไกด์ แต่เมื่อเผชิญกับ COVID-19 ทุกที่แทบเป็นเมืองร้าง "นักท่องเที่ยวเป็น 0 รายได้ก็เป็น 0" เงินเก็บที่หวังจะซื้อบ้านไว้อยู่ในบั้นปลาย ถูกนำออกมาจ่ายค่าเช่าและลงทุนค้าขาย แต่ก็ต้องขาดทุนเพราะคนภูเก็ตจำนวนมากก็ลำบากและไม่มีกำลังซื้อ
เมื่อมีภูเก็ตแซนด์บ็อกก็คาดหวังว่าจะช่วยให้มีงานเพิ่มขึ้นบ้าง แต่กลับพบเพียงความว่างเปล่า เพราะประเทศในเอเชียนักท่องเที่ยวยังไม่เดินทางออกนอกประเทศ
ส่วนนักท่องเที่ยวโซนยุโรปก่อนเดินทางต้องจองโรงแรมไว้ ซึ่งโรงแรมก็มีบริการครบวงจรตั้งแต่รถไปรับ-ส่ง เที่ยว-กิน-ดื่ม ก็อยู่ในโรงแรมเป็นส่วนใหญ่ จน "มะห์" เริ่มไม่มองไม่เห็นอนาคตในอาชีพไกด์ และทิ้งท้ายว่า พร้อมรับงานล่ามภาษาอินโดนีเซียทุกเมื่อ หากมีคนสนใจจ้าง
การท่องเที่ยวที่กำลังเปลี่ยนไปหลังโควิด-19
ความหวาดหวั่นของไกด์ในเมืองท่องเที่ยวต่อเนื่องไปจนถึงหลังสถานการณ์ COVID-19 หลายคนกังวลถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยนายกสมาคมมัคุุเทศก์อาชีพ จ.สงขลา ประเมินว่า หลังเปิดด่านนอกแซนด์บ็อก ไกด์ก็อาจจะยังไม่ได้รับโอกาสที่จะกลับมาหารายได้ “เรากลัวเขา เขาก็กลัวเรา ฉีดวัคซีนครบก็ยังไม่การันตีว่าจะปลอดภัย” หลังจากนี้จะเห็นรถเก๋ง-รถตู้มากขึ้น และการเที่ยวด้วยรถบัสจะค่อย ๆ หายไป
ขณะเดียวกันไกด์บางส่วนก็มองว่า การเข้ามาท่องเที่ยวเองกำลังจะเป็นเทรนด์ท่องเที่ยวยุคใหม่ ท่ามกลางสิ่งอำนวยความสะดวกจากสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเพจร่วมที่เที่ยว-ร้านอาหารดังในพื้นที่ หรือแม้แต่การเที่ยวตามยูทูบเบอร์ก็เป็นคู่แข่งสำคัญของไกด์ 80,260 คนทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในเมืองท่องเที่ยว จนอาจทำให้หลายคนลืมเลือนอาชีพของคนนำทางไปในที่สุด
"ไกด์" อาชีพที่ต้องพร้อมปรับตัว
แม้เทคโนโลยีจะเริ่มกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญ แต่ไกด์บางพื้นที่ก็ยังมีความสำคัญและไม่ใช่เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่ได้ง่าย ๆ “วงษ์” ไกด์หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา อายุ 32 ปี ทำอาชีพไกด์มาตั้งแต่ 11 ปีก่อน เล่าว่า การเป็นไกด์บนเกาะแม้จะไม่เน้นเรื่องภาษาแต่ทักษะการดูแลนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการลงเรือหรือดำน้ำต้องมีประสบการณ์ จึงจะแนะนำเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวได้ "ไม่ใช่ใครก็ทำได้ง่าย ๆ"
ไกด์หาดใหญ่ขาดคน ก็ไปหาไกด์ที่อื่นมาช่วยก็ได้ เพราะอยู่บนรถบัส แต่ไกด์ทะเล ไม่ใช่ใครจะมาทำแทนได้ง่าย อาจต้องมีการฝึกฝนและใช้ประสบการณ์ช่วยด้วย
แม้จะมีความพิเศษอยู่บ้าง แต่ช่วง COVID-19 ที่ปิดท่องเที่ยวทุกทางก็ทำให้ไกด์บนเกาะได้รับผลกระทบไม่น้อย จากต้องทำงานทุกวัน กลายเป็นทำงาน 2 วัน หยุด 3 วัน สลับกันไป รายได้รายวันก็ลดลงจนน่าใจหาย แต่ “วงษ์” ก็ไม่หวั่นเพราะการท่องเที่ยวอุทยานฯ เปิด 6 เดือน ปิด 6 เดือน อาชีพประมงและเกษตร จึงเป็นอาชีพที่ 2 ของไกด์บนเกาะคนนี้ ที่พร้อมจะทำงานแลกเงินอย่างอดทน และเตรียมใจอยู่เสมอว่าอาชีพไกด์นั้นไม่เคยแน่นอนตั้งแต่เรียนจบมา
เรามีคู่แข่งเพิ่มขึ้นทุกวัน การท่องเที่ยวก็เริ่มเปลี่ยนไปทุกที ต้องพร้อมที่จะปรับตัว จะมาอยู่เฉยๆ รอความช่วยเหลือ ก็อดตายพอดี ผมเลือกที่จะสู้ เพราะคิดว่าคนเราทำได้ทุกอย่าง ถ้าเราคิดที่จะทำ
แม้ต้องเผชิญกับศึกรอบด้าน แต่ทุกคนก็สู้อย่างเต็มกำลัง พร้อมความหวังเล็ก ๆ ของไกด์เมืองท่องเที่ยวในช่วงนี้ก็ยังขอฉีดวัคซีนเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันและเตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน พร้อมเสนอให้รัฐบาลมีนโนบายไทยเที่ยวไทย เหมือน COVID-19 ระลอก 2 ให้ อสม.หรือหน่วยงานต่าง ๆ เที่ยวด้วยรถบัส ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่ยังสร้างรายได้ให้ไกด์ในพื้นที่ ระหว่างการปรับตัวสร้างอาชีพเสริมหรืออาชีพใหม่ในช่วงที่คนนำทางผู้อื่นมาตลอดชีวิตอาจกำลังหลงทางเพราะเผชิญกับเส้นทางใหม่ที่ไม่คุ้นเคย