วันนี้ (20 ก.ย.2564) นายวัลลภ ยุติธรรมดำรง รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อให้พิจารณารับเป็นคดีพิเศษ กรณีมีผู้ปลอมบัญชีไลน์และเฟซบุ๊กในนามราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และใช้ตราสัญลักษณ์ปลอมของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปหลอกลวงฉ้อโกงขายวัคซีนซิโนฟาร์ม.shกับประชาชน
นายวัลลภ เปิดเผยว่า กรณีนี้มีผู้หลงเชื่อโอนเงินค่าวัคซีนจำนวนมาก มูลค่าหลักล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้แจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูง จึงมายื่นเรื่องให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาว่าจะเข้าหลักเกณฑ์รับเป็นคดีพิเศษหรือไม่
อ่านเพิ่ม : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เอาผิดคนแอบอ้างได้รับจัดสรร "ซิโนฟาร์ม"
สำหรับพฤติกรรมของมิจฉาชีพจะปลอมแปลงบัญชีไลน์และเฟซบุ๊กขึ้นมา และแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าไปตอบคำถามข้อสงสัยในกลุ่มสาธารณะที่พูดคุยเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนต่างๆ ให้ประชาชนหลงเชื่อ และหลอกให้จองวัคซีน พร้อมโอนเงิน โดยเป็นราคาวัคซีนที่สูงกว่าราคาที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดสรร
ด้าน พพ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบว่าเข้าหลักเกณฑ์รับเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ ซึ่งต้องให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาอีกครั้ง
"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ไม่ส่งลิงก์โอนค่าวัคซีนผ่านไลน์
ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊ก "ศูนย์ข้อมูลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" โพสต์เตือนภัยมิจฉาชีพแฝงตัวในสื่อออนไลน์ช่องทางต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ หรืออีเมลปลอม เพื่อส่งคิวอาร์โคด พร้อมเพย์ ให้ประชาชนโอนเงินค่าวัคซีน ซึ่งเพจเฟซบุ๊กปลอมได้นำตราสัญลักษณ์และภาพไปใช้ โดยชื่อเพจไม่ใช่ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยืนยันว่า ไม่มีบริการส่งลิงก์โอนเงินค่าวัคซีนซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดผ่านไลน์ และไม่มีการจัดตั้งบัญชีไลน์ศูนย์ข้อมูลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อบริการตอบคำถามประชาชน
ส่วนองค์กร/นิติบุคคลที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน สามารถตรวจสอบวิธีการโอนเงิน และพิมพ์ใบนำฝากเงินผ่านการล็อกอินเข้าสู่ระบบ “ลงทะเบียนองค์กรผู้ได้รับการจัดสรรวัคซีน” ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เท่านั้น เพื่อโอนเงินผ่านช่องทางต่างๆที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำหนด โดยไม่มีการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีเฟซบุ๊ก 2 เพจเท่านั้นที่ใช้สื่อสารเรื่องการจัดสรรวัคซีน ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (www.facebook.com/chulabhornhospital) และ ศูนย์ข้อมูลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (www.facebook.com/CRAVaccineinfocenter)
นอกจากนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีช่องทาง LINE Official account: @Chulabhornhospital สำหรับใช้สื่อสารบริการและประกาศประชาสัมพันธ์ต่างๆ เท่านั้น ไม่มีบริการตอบคำถามประชาชนในไลน์บัญชีนี้